คนวัยเกษียณ, วัยเกษียณ, เกษียณอายุ, ปัญหาคนวัยเกษียณ, สุขภาพใจคนวัยเกษียณ, นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์, retire

ปลด 6 บ่วงถ่วงใจ คนวัยเกษียณ

6 Retire Traps : 6 บ่วงถ่วงใจ คนวัยเกษียณ

นอกจากจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอกที่มีชื่อเสียงแล้ว คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวอีกด้วย …เหนือสิ่งอื่นใด ท่านเข้าใจรูปแบบของ “ความกังวลใจในวัยเกษียณ” เป็นอย่างดี
มาอ่านเรื่องนี้พร้อมกันค่ะ

….

ทุกคอร์สสุขภาพ ต้องมีลูกค้าประจำเป็นคนวัยเกษียณ และต้องมีคำถามของคนกลุ่มนี้ ซึ่งมักเป็นปัญหาซ้ำซาก จนผมเรียกได้ว่าเป็นกับดักของคนเกษีย ณ ปักษ์นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตก่อนนะ ซึ่งสามารถเล่าให้ฟังโดยสรุป และบอกวิธีการออกจากกับดักให้เสร็จสรรพ ดังนี้

Trap 1 ความทุกข์เรื่องเงินไม่พอใช้ 

รูปแบบของความทุกข์มักมีสองแบบ คือ

แบบที่ 1. มีบำเหน็จหรือเงินกองทุนเป็นก้อน แต่มีคนรองาบอยู่เพียบ เช่น ลูกชายจะยืมไปเซ้งห้องแถวลงทุนทำการค้า ลูกสาวก็จ้องจะเอา ถ้าไม่ให้ ลูกๆ ก็จะดิ้นปั๊ดๆ ถ้าให้ก็เสียดายเงิน กลัวตัวเองแก่แล้วจะไม่มีอะไรกิน เรื่องแบบนี้ตรงกับพังเพยฝรั่งที่ว่า

 “..ไม่มีอะไรอันตรายยิ่งไปกว่าลูกชาย ลูกสาว หรือลูกเขย ที่มีแผนธุรกิจล้ำเลิศว่าจะใช้เงินของคุณอย่างไร”

ประเด็นนี้ผมแนะนำว่า อย่าไปกังวลถึงฐานะการเงินของลูกหลาน อย่าไปรู้สึกผิดที่จะใช้เงินของคุณเองเพื่อตัวเอง นี่เป็นเวลาที่ลูกหลานต้องตั้งต้นใช้สิ่งที่คุณลงทุนให้แล้ว ในรูปของคำสอนและการศึกษา ดังนั้น อย่าให้เงินก้อนนั้นแก่ลูกหลาน ให้เก็บเงินทั้งหมดไว้ใช้เอง

แบบที่ 2. รายได้หดหาย รายจ่ายบาน อนาคตคงจะอดตายแหงๆ บางคนมีเงินเป็นล้านก็ยังทุกข์ว่าเงินจะไม่พอใช้จนวันตาย แหม เรื่องการใช้เงินนี้ผมไม่มีคำแนะนำดอกนะ เพราะผมเองก็ไม่ถนัด ผมรู้แต่ว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่จินตนาการ เพราะผมรู้จักผู้สูงอายุบ้านนอกบางคน แค่เงินบำนาญที่รัฐบาลให้ไม่ถึงพันบาท เขายังอยู่กันได้เลย เอาเป็นว่าเรื่องนี้ ตัวใครตัวมันละกัน

วัยเกษียณ
“ไม่มีใครแก่หรอก ตราบที่ยังมีไหวพริบปฏิภาณและความรักในหัวใจ”

Trap 2 ความหดหู่ซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย

ความซึมเศร้าเป็นของคู่กับวัยเกษียณ ซึ่งแท้จริงก็คือ ความคิดปรุงแต่ง (thought formation) รูปแบบหนึ่งที่เราเคยคิดในอดีต แล้วบันทึกไว้ในหน่วยความจำของเรา จังหวะเหมาะๆมันก็โผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เหมือนหมอกที่ถูกลมพัดเข้ามาครอบคลุมรอบตัวเรา ถ้าคุณไม่หลงกลไปจมอยู่ในม่านหมอก แป๊บเดียวมันก็จะพัดผ่านไป คุณต้องไม่ยอมแพ้แก่ความจำในอดีต แต่ต้องเอาชนะด้วยสติ

Trap 3 ความคิดลบ

ผู้เกษียณบางคน มีแต่ความคิดลบอยู่ในหัวตั้งแต่ตื่นนอน ทางแก้จึงมีทางเดียวคือ ต้องฝึกสติ จะฝึกในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง หรือไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมก็ได้

สติจะทำให้คุณเป็นตัวของตัวเอง รู้ว่าความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของความชรา แต่ไม่ควรไปแช่อยู่ตรงความรู้สึกนั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวคุณ อย่าเสียโฟกัสจากสิ่งที่บ่งบอกความเป็นคุณ ซึ่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ อย่าไปหัวเสียกับเรื่องเล็กน้อยแบบนั้น ชีวิตนี้สำคัญที่ปัจจุบัน อย่าปล่อยให้อดีตลากเราให้จมลง หรือปล่อยให้อนาคตมาเขย่าขวัญเรา ชีวิตนี้สั้นมาก จนไม่ควรเสียเวลาไปกับความขื่นขมใดๆ

วัยเกษียณ
“ไม่มีใครแก่หรอก ตราบที่ยังมีไหวพริบปฏิภาณและความรักในหัวใจ”

Trap 4 การขาดกัลยาณมิตร

แม้จะเป็นคนสันโดษ ไม่ชอบสุงสิงกับใคร แต่ถ้ามีการ์ดเชิญ งานบวช งานแต่ง งานศพ ก็ควรไปร่วมกับเขาบ้าง โดยออกจากบ้านไปพบคนที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมาพักใหญ่แล้ว ได้รับรู้อะไรใหม่ๆ หรือรื้อฟื้นอะไรเก่าๆ บ้าง ย่อมดีกว่า

เมื่อพบผู้คนแล้ว ควรหัดเป็นนักอนุรักษ์ พูดน้อยลง ฟังมากขึ้น ฟังก่อนแล้วค่อยตอบคำถาม แต่อย่าร่ายยาว ยกเว้นคนถาม ต้องการเรื่องยาวจริงๆ พูดจากับชาวบ้านให้นุ่มนวลมีเมตตาหน่อย อย่าบ่น อย่าวิพากษ์มากไป ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น ไม่มีใครอดทนฟังคนอื่นบ่นได้มากนักหรอก ยกเว้นสามีคุณ เพราะเขาไปไหนไม่รอด (อิ อิ ขอโทษ พูดเล่น)

หาเรื่องดีๆ มาพูดบ้าง เช่น ลองบอกข้อเสียของเด็กรับใช้ในบ้านให้ฟังหน่อยสิ.. มีเพียบ ใช่ไหม ไหนลองบอกข้อดีของเธอให้ฟังบ้างสิ เอ้อ อ้า นึกไม่ออกเลย เพราะเราเห็นแต่สิ่งร้ายในตัวคนรอบข้าง

ฉะนั้นในการคบหากัลยาณมิตร คุณต้องยื่นไมตรีออกไปก่อน ถ้าเผลอไปเหยียบตาปลาใครเข้า ขอโทษเขาซะ แต่ถ้าเขาเหยียบตาปลาเราก็…ให้อภัย อย่าบ่มเพาะความแค้นเคืองไว้ในใจ เหมือนตัวเองกินยาพิษ แต่หวังให้คนอื่นตาย แบบนั้นไม่เวอร์คหรอก

ถ้าคุณมีศรัทธาในเรื่องใด โอเคลุยไปตามความเชื่อของคุณเลย แต่อย่าเสียเวลาไปทำให้คนอื่นเขาเชื่ออย่างนั้นด้วย เพราะไม่ว่าคุณจะบอกอะไรเขา เขาก็จะเลือกสิ่งที่เขาเชื่ออยู่ดี ดังนั้นยิ่งพยายาม คุณก็ยิ่งหงุดหงิด ให้คิดว่าคุณทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ใครจะเก็ทหรือไม่นั้นสุดแต่บุญกรรม

Trap 5 การมีโลกทัศน์คับแคบ จนอยู่กับใครไม่ได้

ผู้เกษียณจำนวนหนึ่งทำตัวเป็นคนบ้าอำนาจจนลูกหลานอยู่ด้วยไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าคุณต้องปักหลักว่าต้องพึ่งลูกหลานนะ ไม่เลย ผมสนับสนุนให้ผู้เกษียณอายุมีชีวิตอิสระ สามารถพึ่งตนเองได้จนลมหายใจสุดท้าย แต่คุณควรเรียนรู้การเคารพคนรุ่นใหม่และความคิดของพวกเขาด้วย เขาไม่เหมือนเรา

ผู้เกษียณบางคนดุด่าว่า ลูกวัยทำงานที่ซื้อตุ๊กตาหุ่นยนต์มาไว้เต็มบ้าน โธ่ คุณป้ารู้หรือเปล่าว่า ตัวดาร์ทเวเดอร์ในสตาร์วอร์น่ะคืออะไร ถ้าไม่รู้เรื่องของเขา อย่าไปซอกแซกบงการดีกว่า อย่าตำหนิหรือพร่ำสอนแบบเทียบกับอดีต เลิกพูดเสียทีว่า สมัยท่าฉันอายุเท่าแก… โธ่ คุณป้าขา ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ คุณป้ากำลังอยู่ในสมัยนี้นะ ไม่ใช่สมัยนั้น

วัยเกษียณ
“ไม่มีใครแก่หรอก ตราบที่ยังมีไหวพริบปฏิภาณและความรักในหัวใจ”

Trap 6 การสูญเสียตัวตนของตนเองไป

คนเรามีตัวตนหรือกำพืดของตน (identity) การเกษียณทำให้ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งสูญเสียตัวตนบางอย่างไป ไม่เหลือความภาคภูมิใจที่เคยมี กลายเป็นไม่รู้ว่าตนเองเป็นใครมาจากไหน มาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และจะไปทางไหนต่อดี ความรู้สึกอย่างนี้ทางการแพทย์ถือไม่ดี มักชักนำไปสู่ภาวะโรคจิตหรือฆ่าตัวตายได้

 

เมื่อเกษียณแล้ว คุณต้องรื้อฟื้นความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาใหม่ อย่าสนใจว่า คนอื่นจะพูดถึงคุณอย่างไร ไม่มีใครรู้จักคุณดีกว่าตัวคุณเอง ก่อนอื่นต้องบ่มเพาะเมตตาธรรมในใจไว้เสมอ เมตตาต่อตัวเอง เมตตาต่อคู่ชีวิตของเรา เมตตาต่อคนรอบข้างเรา จำที่ฝรั่งคนหนึ่งพูดไว้ว่า

ไม่มีใครแก่หรอก ตราบใดที่ยังมีไหวพริบปฏิภาณและความรักในหัวใจ” 

สร้างความภูมิใจในตนเองขึ้นมาใหม่ ทั้งข้างนอกข้างใน ยอมลงทุน อยากไปร้านทำผม ไปเลย อยากทำเล็บ ทำเลย อยากซื้อน้ำหอม ซื้อครีม ซื้อเลย ทำข้างนอกให้สุกใส ข้างในก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามมา

อย่าเลิกทำงานอดิเรกที่เคยชอบ ถ้าไม่มีเลย ก็เริ่มหัดทำซะ อะไรก็ได้ เดินทาง ปีนเขา ทำอาหาร อ่านหนังสือ ร้องเพลง เต้นรำ เลี้ยงแมว เลี้ยงหมา ทำสวน วาดรูป ทำงานจิตอาสา ถ้าอยากจะไปหางานทำจริงๆ ก็ทำ ไม่มีกฎหมายห้ามคนอายุหกสิบทำงานหรอก

สรุปว่าให้หาอะไรสนุกๆ ทำ ติดตามข่าวสาร อ่านข่าว ดูข่าวอยู่เสมอ ติดต่อกับผู้คนทางไลน์ ทางเฟซ หัวเราะมากๆ และบ่อยๆ หัวเราะให้ทุกสิ่งทุกอย่าง โธ่..อยู่มาได้จนแก่ป่านนี้แล้ว นับว่าโชคดีแล้วนะ มีคนจำนวนมากล้มหายตายจากไปก่อนถึงวัยนี้ วันก่อนผมไปงานเลี้ยงรุ่นสมัยมัธยม มีกัน 150 คน ตายไปแล้ว 50 คน

ดังนั้น คนวัยเราหัวเราะได้ทุกเรื่องครับ

 

ข้อมูลเรื่อง “ปลด 6 บ่วงถ่วงใจ คนวัยเกษียณ” โดย นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Wellness Class นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 422

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.