ฝังเข็มแบบจีน แบบตะวันตก ต่างกันอย่างไร

ต้นกำเนิดของทั้งสองที่

การฝังเข็มแบบจีน   มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนและเป็นการแพทย์แผนจีนโบราณเก่าแก่นานนับพันปี

การฝังเข็มแบบตะวันตก เป็นการแพทย์สมัยใหม่ ที่ค้นพบและนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา

 

เป้าหมายและปรัชญา ของการฝังเข็ม

การฝังเข็มแบบจีน  การแพทย์แผนจีนเชื่อว่าร่างกายจะฟื้นฟูและเยียวยาเมื่อพลังงานในร่างกายไหลเวียนดี การฝังเข็มแบบจีนจึงทำเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและพลังงาน กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทแบบองค์รวม

การฝังเข็มแบบตะวันตก มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ  จึงฝังเข็มลงไปตรงจุดที่เป็นจุดปวดซึ่งจะช่วยคลายกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นๆ

 

ระยะเวลาของการฝังเข็ม

การฝังเข็มแบบจีน  มักเป็นการฝังและค้างไว้ประมาณ15-30นาที

การฝังเข็มแบบตะวันตก  ไม่เน้นการค้างเข็มไว้ เพราะเป็นการฝังเพื่อคลายจุดที่ตึงหรือปวด จึงเหมาะกับการรักษาผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังและฉับพลันโดยไม่ต้องใช้ยา

 

โรคที่รักษา

 

การฝังเข็มแบบจีน จะฝังไปตามเส้นลมปราณ (Meridian System) เหมาะกับกลุ่มคนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต นอนไม่หลับ โรคเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เช่น ซึมเศร้า ฝังเข็มเพื่อการผ่อนคลาย คลายเครียด ดีท็อกซ์ โรคที่ไม่ติดเชื้อเหล่านี้จะได้ผลดี นอกจากนี้ยังสามารถรักษาอาการปวดต่างๆ ได้ เช่น ปวดเข่า ปวดหลัง และโรคที่เกี่ยวกับอวัยวะภายใน เช่นโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ปวดคอ ปวดประจำเดือน โรคภูมิแพ้ ไมเกรน อาการปวดหลังผ่าตัด เป็นต้น

การฝังเข็มแบบตะวันตก มีจุดประสงค์เพื่อลดอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ โดยฝังเข็มลงไปบนจุดที่มีอาการปวดตึงเหมาะกับอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดหลัง โรคยอดฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรม  กล้ามเนื้อติด ไหล่ติด ขยับตัวไม่ได้ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ ตรงไหนที่กล้ามเนื้อมีปมก็ฝังเข็มลงลึกไปที่กล้ามเนื้อ (เรียกว่าการฝังเข็มกายภาพ) จะฝังลึกและเจ็บกว่า เพราะเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อของคนเรามีเส้นประสาทพันไว้อีกรอบ เวลาเข็มจิ้มลงไปกล้ามเนื้อจะคลายตัว คนไข้อาจมีการกระตุก เพราะระบบประสาทรับรู้ว่ามีอะไรมาจิ้ม การฝังเข็มแบบนี้แม้ว่าเจ็บสักหน่อย แต่ช่วยให้อาการปวดต่างๆ หายเร็วขึ้นมาก เพราะเข้าไปถึงกล้ามเนื้อมัดลึกๆ ที่การอัลตราชาวนด์ยังเข้าไม่ถึงหรืออยู่ในซอกกระดูก แต่เข็มสามารถเข้าไปถึง

คนไข้ที่เคยนวดแก้ออฟฟิศชินโดรมแล้วไม่หาย หมอจะแนะนำว่าอาจต้องฝังเข็ม แต่ทั้งนี้ต้องดูอาการคนไข้ด้วยว่าอยู่ในระดับไหน ถ้าอาการมากถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิต  รบกวนการนอน กล้ามเนื้อตึงมาก นอนหลับ ๆ ตื่นๆ พลิกไปพลิกมาหลับได้ไม่สนิท ก็ควรฝังเข็มได้แล้ว  เมื่อฝังเข็มไปแล้วอาจระบมไป 1 – 2 วัน หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเมื่ออาการดีขึ้นก็จะสอนยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นอีก ถ้ายึดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ อาการตึงก็จะดีขึ้น หลังจากนั้นอาจกลับมาฝังเข็มอีก 2-3 รอบเพื่อให้อาการกลับเป็นปกติ แต่ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนด้วย

 

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฝังเข็ม

 

ㆍสตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะใกล้คลอด เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากเกินไป จนทำให้เกิดการแท้งลูกได้ แต่หากต้องการเร่งคลอด การฝังเข็มใช้ได้ผลดี

ㆍ ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด (Bleeding Dis-order)  คือเมื่อเลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น โรคฮิโมฟีเลีย เป็นต้น

ㆍ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ติดเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) ห้ามรักษาโดยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เข็มร่วมกับกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นจุดฝังเข็ม เพราะอาจรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดอันตรายร้ายแรง

 

ที่มา : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 578


 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ฝังเข็ม รักษาอาการปวดประจำเดือนตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

ทำความรู้จักกับศาสตร์ “ฝั่งเข็ม”

ทำไมผู้หญิงถึงฝันร้าย มากกว่าผู้ชาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.