เรื่องต้องรู้ ก่อน บริจาคเลือด

บริจาคเลือด อย่างที่มีการรณรงค์กันมาเรื่อยๆ เลยค่ะ ว่าเป็นอีกหนึ่งการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เพราะอาจช่วยต่อชีวิตได้อีกมากมาย แต่นอกจากนั้นแล้ว ยังดีต่อผู้บริจาคเองด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการเตรียมตัว ที่ผู้บริจาคจะต้องเตรียมด้วย

การบริจาคเลือด

การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง เลือดจะถูกเจาะออกไปประมาณ 350 – 450 มิลลิลิตร หรือคิดเป็นเพียง 10-12% ของปริมาณน้ำเลือดในร่างกาย ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่ทำลายสุขภาพ เนื่องจากไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดใหม่มาทดแทนได้ และเม็ดเลือดที่สร้างใหม่นี้จะไหลอยู่ในร่างกายนานประมาณ 120 วัน และการบริจาคเลือดยังมีความสำคัญอยู่ เพราะแม้ในทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างเลือดปลอมเพื่อทดแทนเลือดเพื่อใช้ในการรักษาได้

เลือดที่ถูกบริจาค จะถูกนำไปปั่นแยกองค์ประกอบออกเป็น 3 ส่วน คือ

เม็ดเลือดแดง ใช้รักษาผู้ที่สูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัว ผู้ที่มีภาวะตัวซีด หรือผู้ที่มีภาวะผิดปกติทางเม็ดเลือด เช่น ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

พลาสมา ของเหลวสีเหลืองที่มีแร่ธาตุและโปรตีน เช่น อัลบูมิน โกลบูมิน เป็นต้น โดยเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เลือดแข็งตัว ใช้รักษาผู้ที่ขาดโปรตีน ผู้ที่มีภาวะช็อกจากการขาดน้ำ ผู้ที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

เกร็ดเลือด มีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว และอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด ใช้รักษาผู้ที่ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยไข้เลือดออก รวมถึงผู้ที่มีภาวะเลือดหยุดไหลยาก สำหรับเกร็ดเลือดนี้ มีการบริจาคโดยเฉพาะแยกจากการบริจาคเลือดด้วย

การบริจาคเกร็ดเลือด จะใช้เวลาในการบริจาคนานประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องเป็นผู้ที่มีเส้นเลือดขนาดใหญ่ ดังนั้นผู้ที่จะบริจาคได้ จึงมักเป็นเพศชาย โดยจะมีการนำเลือดออกมาปั่นในเครื่องปั่นเลือด เพื่อเอาเฉพาะเกร็ดเลือด ก่อนที่เครื่องจะปล่อยเลือดคืนสู่ผู้บริจาค

บริจาคเลือดดีต่อผู้ให้

การบริจาคเลือด ไม่เพียงช่วยต่อชีวิตกับผู้รับเลือด แต่ยังดีต่อผู้บริจาคเลือดเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ รวมถึงสิทธิประโยชน์บางอย่างในการรักษา

  1. ทำให้สุขภาพดี

การบริจาคเลือด คือการนำเลือดส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งจะเกิดการคำนวนน้ำหนักตัวของผู้ให้บริจาค โดยการบริจาคเลือดจะกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาในระบบ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น

2. ทำให้ผิวพรรณดี

เมื่อก่อนเคยมีความเข้าใจผิดว่าการบริจาคเลือดทำให้อ้อวน ซึ่งไม่เป็นความจริง ซ้ำยังให้ผลในทางตรงกันข้าม ในความเป็นจริงคือ เมื่อนำเลือดส่วนเกินออกไป มีการสร้างเม็ดเลือดใหม่มาทดแทนทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ก็จะดีต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย และยังทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หน้าใสด้วย

3. ลดความเสี่ยงมะเร็ง

มีงานวิจัยจาก สถาบันคาโรลินสกา สตอคโฮล์ม สวีเดน พบว่าการบริจาคเลือดช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และยังมีงานวิจัยพบว่าในบางรายที่มีปัญหาธาตุเหล็กสูงเกินไปจนเสี่ยงเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน การบริจาคเลือดจะเป็นการนำธาตุเหล็กส่วนเกินออกจากร่างกายด้วย

4. สิทธิประโยชน์ทางสุขภาพ

โรงพยาบาลต่างๆ มีการมอบสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ที่บริจาคเลือด เช่น ผู้บริจาคโลหิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตั้งแต่ 7 ครั้งขึ้นไป สามารถขอใช้สิทธิ์ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษได้ไม่เกินร้อยละ50 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งสิทธิ์ในแต่ละที่จะแตกต่างกันไป ผู้บริจาคเลือดสามารถตรวจสอบได้ที่โรงพยาบาลที่บริจาคเป็นประจำ

คุณสมบัติผู้บริจาคเลือด

แม้ว่าการบริจาคเลือดจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ทั้งนี้ก็มีคุณสมบัติด้านสุขภาพบางประการที่จะต้องตรวจสอบ โดยมีหลังเบื้องต้นดังนี้

  • มีความเข้มข้นของเลือดในเกณฑ์ที่กำหนดคือ ผู้หญิงอยู่ที่ 12.5 – 16.5 กรัม ต่อเดซิลิตร และผู้ชายอยู่ที่ 13.0 – 18.5 กรัมต่อเดซิลิตร
  • น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป
  • มีอายุระหว่าง 18-70 ปีขึ้นไป (บริจาคครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 60 ปี)
  • มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคต่างๆ ไม่มีอาการท้องเสียก่อนบริจาคเลือด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคมะเร็ง และภาวะเลือดไหลไม่หยุด ห้ามบริจาคเด็ดขาด!
  • ไม่เป็นพาหะ หรือโรคไวรัสตับอักเสบ
  • ไม่เป็นไข้มาลาเรียใน 3 หรือไม่อยู่ในเขตมาลาเรียระบาดมานานกว่า 1 ปี
  • ไม่มีการผ่าตัดใหญ่ คลอดลูก หรือแท้งในรอบ 6 เดือน
  • ไม่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก
  • ไม่สัก ไม่เจาะ ในรอบ 4 เดือน
  • ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
  • ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติด

การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด

แม้การบริจาคเลือดจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ตลอด (3 เดือนครั้ง) แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องมีการเตรียมตัวกันล่วงหน้าสัก 24 ชั่วโมงนะคะ โดยควรจะต้อง

  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 -8 ชั่วโมง
  • ทานอาหารให้ครบมื้อก่อนบริจาค หากบริจาคตอนเช้า ควรทานอาหารเช้ามาก่อน
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนบริจาค 24 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ก่อนบริจาค 1 ชั่วโมง
  • ดื่มน้ำหวานหรือน้ำเปล่าอย่างน้อย 3-4 แก้วก่อนบริจาคโลหิต ป้องกันอาการหน้ามืด เป็นลมหลังบริจาคโลหิต และทำให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง
  • สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ที่ถลกแขนได้ถึงข้อพับ

ข้อปฏิบัติหลังบริจาคเลือด

นอกจากจะต้องมีการเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือดแล้ว ก็มีข้อควรระวังนิดหน่อยหลังบริจาคเลือดคือ

  • ลหังบริจาคเลือดเสร็จต้องนอนพักอย่างน้อย 5นาที อย่าเพิ่งลุกจากเตียงบริจาคเลือด เพื่อประเมินอาการ
  • งดใช้กำลังแขนข้างที่บริจาคเลือด
  • งดออกกำลังกายทุกประเภท
  • ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ
  • ทานวิตามินเสริมธาตุเหล็กที่สถานรับบริจาคเลือดมอบให้ เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
  • หากมีอาการไม่พึงประสงค์แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

บริจาคที่ไหนได้บ้าง

  1. สภากาชาดไทย
  2. หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่
  3. โรงพยาบาลต่างๆ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ฮีโมฟีเลีย เลือดไหลไม่หยุด ผู้ชายเท่านั้นที่จะเป็น!

เมื่อเบาหวาน ทำเส้นเลือดเกือบแตก

ที่มา

  • ฝ่ายธนาคารเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  • ศูนย์บริการโลหิตแหล่งชาติ สภากาชาดไทย
  • งานธนาคารเลือด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.