หักนิ้ว

หักนิ้ว บ่อย อันตรายกว่าแค่ข้อนิ้วแตก

หักนิ้ว พฤติกรรมเลิกได้เลิก!

หักนิ้ว พฤติกรรมที่หลายคนทำจนติดเป็นนิสัย โดยเฉพาะคนที่ทำงานโดยใช้กล้ามเนื้อมัดเเล็กๆ อย่างนิ้วเป็นประจำ เช่น คนทำงานหน้าคอมต้องพิมพ์งานบ่อยๆ หรือใช้โทรศัพท์มากๆ พอรู้สึกตึงๆ นิ้วก็จะหักนิ้วคลายปวดเมื่อย เพราะคิดว่าไม่มีผลเสียอะไร นอกจากยอมให้ข้อแตก นิ้วโปนที่ก็เป็นแค่เรื่องของความสวยงามของนิ้วมือ แต่ที่จริงแล้ว การหักนิ้วบ่อยๆ มีผลเสียกับสุขภาพมากกว่าที่คิดนะคะ

หักนิ้วคลายปวด?

หลายคนหักนิ้วเพื่อคลายปวด หรือลดความตึงของข้อนิ้ว บางก็ว่าหลังนิ้วทำให้รู้สึกสบายนิ้วขึ้น ซึ่งทั้ง ผศ.นพ.ภพ เหลืองจามีกร หน่วยศัลยกรรมทางมือ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรคทั่วไป โรคในผู้สูงอายุ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ในทางการแพทย์ การหักนิ้ว ไม่ได้ช่วยคลายปวด หรือคลายตึงที่นิ้วมือเพียงแต่เป็นการขับไล่ฟองอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างกระดูกนิ้วมือเท่านั้น

โดยเสียงกร๊อบ ที่เกิดขึ้นจากการหักนิ้ว เป็นเสียงของฟองอากาศที่อยู่ในน้ำระหว่างข้อนิ้ว เมื่อเกิดเสียงแปลว่าฟองอากาศเหล่านั้นถูกบีบไล่ออกมา

แต่ทั้งนี้คุณหมอภพได้กล่าวว่ามีการศึกษารายงานว่าในบางรายการหักนิ้ว ช่วยลดความเครียดได้ และทำให้ขยับข้อนิ้วได้ดีขึ้น สบายขึ้น เนื่องจากมุมการเคลื่อนไหวนิ้วได้เยอะขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีการศึกษาว่าการหักนิ้วช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น

หักนิ้วบ่อย เสี่ยงข้อเสื่อม

การหักนิ้วบ่อยๆ อาจส่งผลให้ตัวผิวข้อกระดูก่อนหนาขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของการที่บวม และอักเสบ นอกจากนั้นแล้วการหักนิ้วบ่อยๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ข้อเสื่อมได้ หรือหากมีอาการข้อเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว การหัวนิ้วก็ทำให้ข้อเสื่อมเพิ่มมากขึ้นได้

นอกจากนั้นแล้ว การหักนิ้วบ่อยๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการ

  • ข้อนิ้วหลวม เนื่องจากปลอกหุ้มข้อถูกยืดออกทำให้เกิดอาการปวดตามข้อต่อนิ้ว หากเป็นมากอาจทำให้เกิดการผิดรูป โค้ง งอ หรือบิดไม่ได้ตามปกติ กระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ข้ออักเสบ เกิดขึ้นได้มากโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่หักข้อแรงๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการบวมแดง บริเวณข้อนิ้วร้อนผ่าวๆ เ คลื่อนไหวนิ้วลำบาก
  • ปลอกหุ้มข้อเสื่อม ส่งผลให้เอ็นรอบข้อไม่แข็งแรง ทำให้กำลังในการบีบมือลดลง

ข้อนิ้วแตก! นิ้วโปน

ข้อนิ้วแตก ที่เราพูดกันติดปาก สำหรับคนที่หักนิ้วบ่อยๆ เป็นการใช้คำเพื่ออธิบายลักษณะภายนอก คือ บริเวณกลางลำนิ้วมีลักษณะปูดโปนออกมาเป็นปล้อง ไม่เรียวงาม ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่ใช่อาการของข้อนิ้วแตกแต่อย่างใด

แต่หากถามว่าการหักนิ้วทำให้ข้อนิ้วใหญ่ขึ้นหรือเปล่านั้น ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้คำตอบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าการหักนิ้วทำให้กระดูกใหญ่ขึ้น แต่ก็มีรายงานว่าทำให้นิ้วมือมีอาการบวมมากกว่าในกลุ่มที่ไม่หักนิ้ว

หักนิ้วบ่อย ทำนิ้วล็อก?

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนหักนิ้วเป็นกระจำกังวล หรือเด็กๆ ที่เริ่มมีพฤติกรรมหักนิ้วจะโดนผู้ใหญ่หยิบยกเอาอาการ นิ้วล็อกมาขู่ว่าหากหักนิ้วบ่อยๆ จะทำให้นิ้วล็อก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนั้นไม่เกี่ยวกัน การหักนิ้วไม่ทำให้นิ้วล็อกได้

นิ้วล็อกเกิดขึ้นจากการที่ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้วอักเสบและหนาขึ้น ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นอาการนิ้วล็อกเกิดขึ้น

บริหารนิ้ว ลดการหักนิ้ว

สำหรับการบริหารนิ้วมือ เพื่อลดการหักนิ้วนั้นทำได้ไม่ยากเลยค่ะ มีแนะนำกัน 2 วิธีคือ

เสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมือ ด้วยการใช้ลูกบอลขนาดเล็กๆ สำหรับ กำ และคลาย ซึ่งเป็นการบริหารทั้งกล้ามเนื้อนิ้วมือ และข้อมือให้แข็งแรงมากขึ้น หรืออาจใช้เครื่องออกกำลังนิ้วมือที่เป็นเครื่องบีบขนาดเล็ก ก็สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน

การคลายกล้ามเนื้อมือ เมื่อไหร่ที่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อนิ้วมือ หรือรู้สึกตึงๆ อยากจะหักนิ้วมือ ให้ลองเปลี่ยนเป็นการแช่น้ำอุ่น จะบรรเทาอาการปวด เกร็งกล้ามเนื้อได้ ทำให้ลดการหักนิ้วมือลงได้

ที่มา

  • ผศ.นพ.ภพ เหลืองจามีกร หน่วยศัลยกรรมทางมือ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รายการชัวร์ก่อนแชร์
  • ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรคทั่วไป โรคในผู้สูงอายุ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู รายการ RAMA Channel
  • ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 
  • โรงพยาบาลเวชธานี
  • โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ อัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมที่พบมากขึ้นในสังคม
ทำความเข้าใจในเรื่อง “อาการนอนไม่หลับ”
เบาหวานลงไต คืออะไร มาทำความรู้จักกัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.