คิดเรื่องเก่า

หยุดสมอง คิดเรื่องเก่า หยุดเศร้าได้คร่า

 

คิดเรื่องเก่า

เริ่ม คิดเรื่องเก่า ตอนเขียน บ.ก.ขอแชร์ช่วง 10 ตอนแรก จากการที่เคยเป็นคนจิตใจมั่นคง สดชื่น เบิกบาน และปลอดโปร่ง เราก็ทำท่าจะมีความเศร้าติดอยู่ในอารมณ์ แบบว่ามันหม่นๆ มัวๆ ยังไงชอบกล

ถ้าใครเป็นเพื่อนเราในเฟส จะเห็นว่าเราแอบโพสต์ปรารภกับเพื่อนครั้งหนึ่งว่า การย้อนกลับไปเขียนเล่าเรื่องความเจ็บป่วยครั้งกะโน้นของตนเอง ทำให้หมดพลัง เป็นการทำงานแบบเดินถอยไปข้างหลัง ซึ่งสักพัก ก็ต้องมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วสักพักก็กลับไปข้างหลัง เพื่อเขียนตอนต่อไป ผิดธรรมชาติของเราที่มักอยู่กับปัจจุบัน และเดินไปข้างหน้า” ซึ่งก็ทำให้มีเพื่อนมาให้กำลังใจให้เขียนต่อไป ขอบคุณมากมายและอย่างยิ่งค่ะ

นี่คือกระบวนการทำงานของสมองค่ะ จากหนังสือ Change Your Brain, Change Your Life ของคุณหมอ Daniel G. Amen กล่าวถึงความสัมพันธ์ของสมอง 2 ส่วนคือ ฮิปโปแคมปัส ทำหน้าที่ควบคุมความจำระยะยาว และสมองส่วน ลิมบิก ที่ทำงานในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ ฉะนั้น เมื่อเราขุดความทรงจำเก่าๆ สมัยป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อหลายปีที่แล้ว ออกมา แล้วตีแผ่ประสบการณ์ของตนเอง เป็นเรื่องๆ ช้าๆ ละเอียดๆ ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนลิมบิกด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นมัว และไม่ปลอดโปร่ง

นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะกำลังนึกถึงเพื่อนและผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่รู้จัก ที่ไม่เท่าทันสมองส่วนลิมบิก บางคนจึงมักหม่นมัวไม่เบิกบาน ไม่มีกำลังใจ หรือบางคนปล่อยให้ความขัดแย้งในอดีตที่แก้ไขไปแล้ว กลับมาโถมทับเรื่องเล็กๆ ในปัจจุบัน ทำให้เรื่องเล็กๆ เท่าก้อนกรวด ที่น่าจะให้อภัยได้ กลายเป็นเรื่องใหญ่เท่าตึกระฟ้า หรือบางคนคิดลบตลอดเวลา กังวลกลัวว่าปัจจุบันจะเลวร้ายเหมือนอดีต หรือบางคนยึดความสำเร็จในอดีต จนไม่มองความจริงในปัจจุบันว่า จะต้องแก้ไขพัฒนาตนเองอย่างไร ฯลฯ

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

จึงอยากแชร์การแก้ปัญหาของตนเองในช่วงเวลานั้น ให้พวกเราในที่นี้ฟัง วิธีการคือ

  1. เท่าทันตนเอง เมื่อรู้สึกลบ หรือขุ่นมัว ต้องรีบหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ยิ่งถ้าเป็นภาวะที่ผิดปกติจากที่เคยเป็น ให้จดจ่อดูความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์หรือภารกิจใหม่ที่เพิ่งได้รับ
  2. ชะลอสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากรู้ว่าความรู้สึกลบนี้มาจากไหน ให้หยุดหรือวางมันลงก่อน เหมือนสายน้ำขุ่นไหลเรื่อยลงถัง เราต้องปิดก๊อกก่อน เพื่อไม่ให้น้ำในถังขุ่นไปกว่านี้ ฉะนั้นเราจึงต้องหยุดรื้อฟื้นความจำ แล้วลองตั้งหลักดูว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี
  3. เพิ่มการทำงานของสมองส่วนคอร์เท็ค ถ้าตั้งหลักแล้ว ตามทฤษฎีของสมอง ส่วนคอร์เท็คหรือซีรีบรัมทั้ง 4 โหลบจะทำงานในส่วนของการหาหลักการ เหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนงาน และการเคลื่อนไหว สำหรับเรา แทนการเขียน บ..ก.ขอแชร์ส่วนที่มีความดราม่าไปเรื่อยๆ ก็บอกตนเองให้ลองวางแผนการเขียน ถึงเรื่องราวที่เป็นวิธีการที่เป็นรูปธรรมดูบ้าง เช่น การกินวิตามิน ข้อดีของการใช้ชีวิตแบบชีวจิต ฉะนั้นสัปดาห์นี้จึงไม่มีเรื่องสะเทือนใจมาฝากเพื่อนๆ ในเฟส อิอิ
  4. กินน้ำมันปลา คุณหมอแดเนียล จี. เอเมนแนะนำผู้ที่มีสมองส่วนลิมบิกทำงานมากไป จนเกิดภาวะอารมณ์หม่นมัว ให้กินน้ำมันปลา (หรือ Fatty Acid Omega-3) วันละ 200-2000 มิลลิกรัม และในตลาดบ้านเรา เราเห็นมีขนาด 500 มิลลิกรัม และ 1000 มิลลิกรัม เพื่อนๆ สามารถเลือกกินแบบไหนก็ได้ แล้วแต่เงินในกระเป๋าเลยค่ะ
  5. ออกกำลังกาย นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำให้สมองส่วนคอร์เท็คแอ็กทีฟแทนสมองส่วนลิมบิก เพราะแต่ละคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน หากเราแบ่งเวลาบางส่วนให้สมองส่วนคอร์เท็คทำงานบ้าง สมองส่วนลิมบิกก็จะทำงานน้อยลง คุณหมอแดเนียล จี.เอเมนแนะนำค่ะ

พบกันใหม่วันอาทิตย์จร้า

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.