ทฤษฎีใหม่

พระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เพื่อคนไทยยุคข้าวแพง

พระราชดำริ ทฤษฎีใหม่ เพื่อคนไทยยุคข้าวแพง

 

ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เล่าย้อนไปในอตีต ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  นางสาวจินดาและนางสาวพรรณพิมล คชะสุด  ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดิน 15 ไร่เศษ  บริเวณตำบล วันดาว  อำเภอปากท่อ  จังหวัดราชบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนารับไป ดำเนินการต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงเกิดเป็นโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” โดยมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน สำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ และยังมีการศึกษาทดลอง เพื่อถ่ายทอดความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ในพื้นที่และทั่วประเทศ

คุณประวิทย์  เอ็นทู้ นักวิชาการเกษตรประจำโครงการฯ ได้อธิบายเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ว่า  “เกษตรทฤษฎีใหม่คือแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด” การจัดการที่ดินตามแนวคิดทฤษฎีใหม่จะแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน 30 เปอร์เซ็นต์แรกขุดบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรยามหน้าแล้ง ใช้ปลูกพืชน้ำและเลี้ยงสัตว์น้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ที่สองปลูกข้าว เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ให้เพียงพอตลอดปี 30 เปอร์เซ็นต์ที่สามปลูกพืชไร่ พืชสวน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน ส่วน 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายเป็น ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่างๆ เช่น โรงเพาะเห็ด ผักสวนครัว

ทฤษฎีใหม่

แต่สูตรนี้ไม่ตายตัว ปรับเพิ่มลดได้ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และฐานะของผู้อยู่อาศัย เหตุที่เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” คุณประวิทย์บอกว่า เพราะยังไม่เคยมีใครคิดมาก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งยังเป็นการเกษตรที่อาศัยการคำนวณตามหลักวิชาการและมีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ คือหลักการแบ่งสรรพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้เกษตรทฤษฎีใหม่ยังยึดหลักความพอเพียง พึ่งตนเองได้ โดยจะจำลองครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน มีพื้นที่ 15 ไร่เศษ ทุกคนจะเก็บเกี่ยวเก็บกินจากผืนแผ่นดินของตนได้ เพียงพอตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องซื้อหา และเมื่อมีผลผลิตเหลือก็นำไปขายเป็นรายได้

“บนพื้นที่นี้เราปลูกทุกอย่างที่กินได้  กินทุกอย่างที่ปลูกได้ เหลือแล้วจึงจำหน่าย  นี่คือหลักที่เรายึดถือมาตั้งแต่เริ่มโครงการ” ที่นี่จะเน้นทำเกษตรแบบผสมผสานที่ยึดวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ธรรมชาติจัดการธรรมชาติ เช่น ใช้ยาฆ่าแมลง ที่สกัดจากธรรมชาติ หรือการปล่อยเป็ดไล่ทุ่งลงไปในนาที่ยัง ไม่ได้ไถหว่านเพื่อให้เป็ดกินหอยเชอร์รี่ โดยขี้เป็ดยังเป็นปุ๋ยในนาข้าวอีกด้วย และยังให้ธรรมชาติเกื้อกูลพึ่งพากันด้วยการใช้ปุ๋ยคอกจากขี้ไก่ ปลูกหญ้าแฝกคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นของดินในฤดูร้อน เลี้ยงปลากินพืชรอบแปลงปลูกผักเพื่อให้เศษผักและผลไม้เป็นอาหารแก่ปลา หรือเลี้ยงหมูเหนือบ่อปลา เพื่อให้ขี้หมู เป็นอาหารปลา โดยไม่ต้องเสียเงินซื้ออาหารปลาแม้แต่นิดเดียว

นับเป็นการใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการดำเนินโครงการฯใน 6 เดือนแรกสามารถทำ รายได้โดยประมาณถึงสองแสนบาท จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า  ถ้าดำเนินรอยตามพระองค์ท่าน เราอยู่ได้แน่นอน

(สนับสนุนข้อมูล : คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 362)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

สวนจิตรลดา พระราชวังต้นแบบแห่งความสุขที่ยั่งยืน ตามรอยพ่อหลวง

หน่วยทันตกรรมพระราชทาน น้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9

มูลนิธิหัวใจ น้ำพระราชหฤทัยเพื่อคนไทยแข็งแรง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.