เพราะสุขภาพแข็งแรงเป็นต้นทุนที่สำคัญในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพเอื้อต่อการพัฒนาประเทศและมวลมนุษยชาติ การเสียชีวิตในวัยสูงอายุที่เป็นไปตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากสภาพร่างกายที่ร่วงโรยไปตามวัยนั้นอาจจะถือว่าเป็นเสียชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเรื่องนี้ใครๆ ก็ทราบดีใช่มั้ยคะ
แต่สําหรับการเสียชีวิตในช่วงวัยเด็กหรือวัยทํางานซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่ควรเสียชีวิตถือว่าเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นมากเหลือเกิน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอันไม่สมควร ได้แก่ อุบัติเหตุต่างๆ ทั้งที่เกิดจากเจตนาและไม่เจตนา การเสียชีวิตเนื่องจากขาดการสุขาภิบาลที่ดี การเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อหรือโรคระบาดต่างๆ และการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อที่สามารถป้องกันได้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีตัวชี้วัดใดที่ดีที่สุดในการวัดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงมีการศึกษาตัวชี้วัดหลายๆ ตัว เพื่อสะท้อนแนวโน้มการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยส่วนใหญ่จะให้ ความสําคัญกับกลุ่มที่เสียชีวิตในช่วงอายุน้อยๆ ด้วยการถ่วงนําหนักซึ่งจะให้ค่าการสูญเสียมากกว่าในกลุ่มผู้สูงอาย
แกะรอยงานวิจัยสะท้อนบทเรียนทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ กลุ่มโรค คือ โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ลดลงให้ได้ร้อยละ 25 ใน ค.ศ.2025
กระทรวงสาธารณสุขเคยให้ความรู้ไว้ว่า โดยภาพรวมประชากรโลกมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวันอันควร (ช่วงอายุ 35 – 59 ปี ) ลดลงยกเว้นในบางพื้นที่ซึ่งยังมีปัญหาโรคติดเชื้อเอชไอวีระบาด และ ภาวะสงคราม
ปัจจุบันเด็ก 3 ใน 4 คนทั่วโลกสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึงอายุ 50 ปี และกว่าครึ่งหนึ่งมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 70 ปี เมื่อพิจารณาจากสถิติใน ค.ศ. 1970 ( พ.ศ.2513 ) พบว่าประชากรทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตในช่วงอายุ 35 – 59 ปี ถึงร้อยละ 28 และลดลงเหลือร้อยละ 15 ใน ค.ศ. 2010 ( พ.ศ. 2553 )
สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่สถิติการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกล้วนมีแนวโน้มลดลง แต่ใน ค.ศ. 1990 ( พ.ศ. 2533 ) ปรากฏว่า ปัญกาโรคติดเชื้อเอชไอวี การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โรคอ้วน และภาวะสงคราม กลับทำให้ตัวเลขของการเสียชิวิตในช่วงวัยนี้สูงขึ้นอีก
สาเหตุการเสียชีวิตในแต่ละประเทศสะท้อนปัญหาที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีน ปัญหาการสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุก่อโรคซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตในช่วงวัยนี้ ขณะที่ประเทศรัสเซีย การดื่มสุรา โดยเฉพาะวอดก้า ซึ่งเพิ่มขึ้นหลังจากล่มสลายของสหภาพโซเวียต สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ และนโยบายที่หละหลวม เป็นสาเหตุให้ประชากรในประเทศมีสถิติการเสียชีวิตในช่วงวัยดังกล่าวมากขึ้น
ส่วนประเทศไทยนั้น เซอร์ริชาร์ดให้ความเห็นว่า การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเชื้อเอชไอวีได้ผลดี มีการลงไปให้ความรู้แก่ผู้ทำงานบริการทางเพศ รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย และมีนโยบายเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพผู้ติดเชื้ออย่างครบวงจร
แต่ปัญหาที่ต้องช่วยแก้ไขอย่างจริงจังต่อไปคือการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะและไม่สวมหมวกกันน็อกรวมถึงปัญหาโรควิถีชีวิตหรือโรคเอ็นซีดี ( Non Communicable Disease ) เช่น โรคมะเร็ง โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
สถานการณ์ในประเทศไทย ชี้ต้องเร่งป้องกันโรควิถีชีวิต
ประเทศไทยว่าขณะนี้มี 4 โรคสำคัญที่ก่อปัญหาด้านสุขภาพแก่ประชากรวัยทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 198,512 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ได้แก่
- โรคหัวใจและหลอดเลือด 78,976 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 39.8
- โรคมะเร็ง 78,255ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 39.4
- โรคเบาหวาน 24,489ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.3
- โรคระบบทางเดินหายใจ 16,793ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5
ที่น่าตกใจมากคือ ในระยะเวลาเพียง 10 ปี จาก พ.ศ. 2542 – 2552 มีประชากรไทยเสียชีวิตจาก 4 โรคหลักนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ ปี ปีละ 8,054 คน จาก 233,797 คน เป็น 314,340 คน
ทั้งนี้ เรื่องการดื่มสุราและสบบุหรี่นั้น แม้จะมีสถิติโดยภาพรวมคงที่ แต่พบตัวเลขนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนทั้ง ชาย และ หญิง เพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายถึงคนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรควิถีชีวิตมากขึ้น เพราะมีระยะเวลาในการดื่มและการสูบยาวนานกว่าคนที่เริ่มช้า
ส่วนปัญหาภาวะน้ำหนักเกินพบมากขึ้นเรื่อย ๆในประชากรเพศหญิงโดยมีสาเหตุมาจากการบริโภคน้ำตาลซึ่งโดยเฉลี่ยเพิ่มจาก พ.ศ.2526 คนละ 12.7 กิโลกรัมต่อปี เป็นคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี ใน พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกับการบริโภคเกลือและโซเดียมที่มีปริมาณสูงเกินเกณฑ์ที่แนะนำถึง 2 เท่า ขณะที่ประชากรทั่วประเทศเกินร้อยละ 50 กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ
ส่วนพฤติกรรมเชิงบวก เช่น ออกกำลังกายนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 – 2554 มีประชากรไม่ถึงร้อยละ 30 ออกกำลังกายเป็นประจำ
แม้ว่ารัฐบาลจะมีการรณรงค์ให้ออกกำลังกาย ลดกินหวาน มัน เค็ม อย่างต่อเนื่อง แต่หากผู้คนในประเทศส่วนใหญ่ยังคงละเลย ไม่ดูแลสุขภาพเสียแต่วันนี้ คงไม่แคล้วต้องจน เจ็บ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นแน่
อย่างไรก็ตามลองหันมาใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทสไตล์ชีวจิต รับรองว่าสุขภาพฟิตได้ทุกช่วงวัยค่ะ
ข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 388
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ