อากาศที่เริ่มหนาวเย็นลง ส่งผลให้หลายคนอาจเกิดอาการป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เมื่อเกิดอาการหนาวจัดๆ อาจทำให้อาการป่วยที่เป็นอยู่เกิดการกำเริบและเสียชีวิตจากอากาศที่หนาวจัดได้ ดังนั้น คนครอบครัวต้องดูแลพวกท่านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ซึ่งหากไม่ระมัดระวังคอยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้แข็งแรงเข้าไว้อาจส่งผลเสียในระยะยาวที่คุณอาจคาดไม่ถึงได้
วันนี้เรามีข้อแนะนำวิธีการดูแลผู้สูงอายุในช่วงหน้าหนาว เอามาฝากคุณผู้อ่าน ทั้งผู้ดูแลและตัวผู้สูงอายุเองมาฝากค่ะ
สำหรับผู้สูงอายุที่แข็งแรงดีก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพ ซึ่งทำง่าย ๆ โดยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้ามีความหนาเพียงพอ ห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น ออกกำลังกายเป็นประจำ เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย กินอาหารร้อน ๆ หลากหลายให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6-8 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นั้นก็คือประมาณ 7-9 ชั่วโมง
สำหรับสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นพิเศษมีดังนี้
1.โรคติดต่อทางการหายใจ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ที่แพร่ระบาดในช่วงนี้ จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รุนแรง เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ การป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชน ควรล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง หากเริ่มมีอาการของไข้หวัด ให้นอนพักมาก ๆ ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ ถ้าไข้สูงตัวร้อนมาก ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ หากมีไข้สูงเกิน 5 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
2.ปัญหาเรื่องผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบและคัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย และต่อม ไขมันทำงานลดลงตามอายุ ทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย บวกกับอากาศแห้งและมีความชื้นในอากาศ น้อย การอาบน้ำอุ่นจะยิ่งชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไปอีก ดังนั้นควรใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไม่อาบน้ำนาน ๆ ทาโลชั่น หรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ และเช็ดตัวพอหมาด ๆ ทุกครั้ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
3.การกำเริบรุนแรงของโรคในระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้นได้ในฤดูนี้ด้วย
4.ภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงมากผิดปกติ สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทห่างไกลที่อากาศหนาวจัด ต้อง ระวังภาวะนี้ เพราะประสาทรับรู้อากาศที่หนาวเย็นที่ผิวหนังของผู้สูงอายุมีความไวลดลง ร่างกายไม่สามารถตอบสนองด้วยการหนาวสั่น หรือการหดตัวของกล้ามเนื้อให้เกิดความอบอุ่นได้ดีเหมือนคนหนุ่มสาว
5.ปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาปวดข้อเรื้อรังอยู่เดิม อากาศที่หนาวเย็นอาจกระตุ้นให้โรคข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์ มีอาการรุนแรงขึ้นได้
นอกจากนั้น ยังอาจพบอาการอื่นๆ อีกได้ เช่น อาการปวดข้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคปวดข้อเรื้อรังอยู่เดิม อากาศที่หนาวเย็นอาจจะกระตุ้นให้โรครุนแรงขึ้นได้ หรืออาจกระตุ้นให้โรคเก๊าท์กำเริบขึ้น ท้องผูกรุนแรงขึ้น เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำ ทำให้ลำไส้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
ทั้งนี้ หากพูดถึงการป้องกันโรคหรืออาการต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงงอายุในช่วงที่อากาศหนาวเย็นลงนั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับการป้องกันดังนี้
-
ระดับปฐมภูมิ (primary prevention)
เป็นการป้องกันโรคตั้งแต่ ผู้สูงอายุ อยู่ในภาวะสุขภาพดี ได้แก่ การรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ด้วยการใช้เครื่องนุ่มห่มให้เพียงพอ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในฝูงชนที่มีการระบายอากาศไม่ดี เพราะอาจรับเชื้อไวรัสไข้หวัดจากผู้อื่นได้ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะมีผลดีอย่างมาก โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจวาย ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เช่นผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ส่วน ผู้สูงอายุ ที่กำลังได้รับยาประจำเพื่อควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ก็ไม่ควรขาดยา กรณีที่ต้องการไปเที่ยวพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการเดินทาง
-
ระดับทุติยภูมิ (secondary prevention)
เป็นการป้องกันโรคตั้งแต่ในระยะแรกที่เริ่มแสดงอาการของโรค เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะรุนแรง สำหรับ ผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัวเมื่อเริ่มเข้าสู่อากาศที่หนาวเย็น ควรใช้เครื่องนุ่งห่มที่หนาและอบอุ่นพอ หลีกเลี่ยงสถานที่มีอากาศเย็น ดื่มน้ำอุ่นเสมอ ไม่อดนอน และถ้าเริ่มมีอาการไม่สบาย เช่น อาการไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก การจัดหายาลดไข้รับประทานเองเช่น ยาพาราเซตตามอล อาจทำได้ในผู้ที่มีสุขภาพดี พึงระวังว่ายาลดน้ำมูกและยาแก้ไอที่มีสารโคเดอีนผสมอยู่ มักทำให้มีอาการง่วงซึม อาจทำให้การดูแลตนเองลดลงได้ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารและดื่มน้ำอาจไม่เพียงพอ ส่วน ผู้สูงอายุ ที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่เดิม ควรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าว
กรณีที่เริ่มมีอาการคันตามผิวหนังจากผิวหนังแห้ง ควรใช้ยาประเภทโลชั่นทาผิวเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผิวหนัง โดยเฉพาะภายหลังอาบน้ำอุ่นเสร็จใหม่ ๆ ผู้ที่มีอาการแพ้ได้ง่ายระวังว่า น้ำยาโลชั่นที่วางขายในท้องตลาดอาจใส่น้ำหอมทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ทำให้ยิ่งมีอาการคัน จึงควรใช้โลชั่นประเภทที่ใช้กับผิวเด็กอ่อนจะปลอดภัยกว่า และควรทาผิวหนังวันละหลายๆ ครั้ง เพราะสารเคลือบผิวจะหลุดลอกออกได้เมื่อเวลาผ่านไป
-
ระดับตติยภูมิ (tertiary prevention)
หมายถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการจากโรคนั้นที่ได้แสดงอาการชัดเจนแล้วและกำลังได้รับการรักษาอยู่ โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ที่มีโรคในระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการของโรคเดิมรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ในช่วงหน้าหนาวเราต้องดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุในบ้านมากเป็นพิเศษ และตัวของผู้สูงอายุเองก็ต้องให้ควาร่วมมือในการใส่ใจตัวเองให้มากๆ เพราะถ้าเราดูแลกันดี ไม่ว่าฤดูไหนก็ทำให้เรามีชีวิตได้อย่างปกติสุข และอายุยืนยาวอยู่กับลูกๆ หลานๆ ต่อไปได้อีกนานค่ะ
อย่าลืมนะครับว่า การดูแลและความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุจะต้องมีความรักและกำลังใจจากลูกหลานเป็นพื้นฐาน ถึงจะช่วยให้ท่านมีชีวิตที่ยืนยาวได้
ข้อมูลจาก: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ