การที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุย่อมทำให้มีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งอาจเพราะสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทำให้กลุ่มคนสูงอายุมีสัดส่วนความยากจนสูงกว่าวัยแรงงาน อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนมากไม่ได้เตรียมความพร้อมทั้งการออม โอกาสในการทำงาน และสวัสดิการยามเกษียณอายุ
จากผลการสำรวจของคณะพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ระบุว่าผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย และสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุติดสังคม ผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีที่ดินทำกินโดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มเกษตรกร ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง และกิจกรรมที่รัฐเข้ามาพัฒนานั้น ผู้สูงอายุยังขาดข้อมูลและความเข้าใจ
ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพิงเบี้ยยังชีพรายเดือน ในบางพื้นที่มีการกู้ยืมเงินกองทุนผู้สูงอายุ การออมผ่านสหกรณ์เครดิตยูเนียน จึงมีนโยบายการจัดสวัสดิการสังคม สำหรับผู้สูงอายุและสวัสดิการแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุ เป็นนโยบายที่ภาครัฐดำเนินการเป็นหลัก ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ 2550 เน้นการจัดสวัสดิการของรัฐที่จัดให้กับประชาชนทุกคนในฐานะพลเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงคำว่า “สวัสดิการสังคม” ของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน จะถูกแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ หลักๆ คือ การประกันสังคม การช่วยเหลือสาธารณะ การบริการสังคม และการช่วยเหลือเกื้อกูล และหากพูดให้เข้าใจง่ายระบบต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นระบบการบริการทางสังคม ซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมเพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตนเองได้ทั่วถึง เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย และการมีรายได้นันทนาการกระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ ซึ่งการจัดสวัสดิการสังคมของไทยเริ่มต้นจากระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่เป็นทางการของครอบครัว เครือญาติและชุมชน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้การจัดสวัสดิการสังคมมีการปรับเปลี่ยนทิศทางไปสู่สวัสดิการแบบบูรณาการและเป็นสังคมสวัสดิการ
เรื่องของสวัสดิการทางสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งแต่ละคนต้องได้รับการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น บริการด้านสุขอนามัย บริการด้านการศึกษา บริการด้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ประเทศไทยทุกวันนี้มีความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องสังคมสูงอายุซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการดำเนินงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา การดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นการวางรากฐานที่ดีในการสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ อันเป็นหัวใจสำคัญของปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทุกฉบับ อย่างไรก็ตามการกำเนินงานในเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อผู้สูงอายุ การให้โอกาสผู้สูงอายุได้พัฒนาตัวเอง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ ในการพัฒนาประเทศ และการเน้นบทบาทของครอบครัวและชุมชน ยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำหรับประเทศไทย
นอกจากนี้ นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ต้องไม่ลืมการสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมของประชากรวัยทำงานในปัจจุบันที่จะกลายเป็นผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต
ทีนี้เรามาลองทบทวนเรื่องของรูปแบบของสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยกันดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วลองพิจารณากันดูว่าผู้สูงอายุในบ้านเราท่านได้รับสิทธิ์ตามชอบธรรมที่ภาครัฐกำหนดเอาไว้ให้หรือไม่
ผู้สูงอายุมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ประกอบด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ให้บริการครอบคลุมด้านการตรวจสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงผู้สูงอายุจะได้รับการจัดช่องทางพิเศษเฉพาะเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็ว
2.ด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสาร
จัดศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และให้มีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงขั้นอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบ และมีรายการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุ เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุการเสริมสร้างคุณค่าและกา รพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับผู้สูงอายุ การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ เป็นต้น
3.ด้านการประกอบอาชีพ ฝึกอาชีพที่เหมาะสม
ให้ข้อมูล คำปรึกษา ข่าวสารตลาดแรงงาน การจัดหางาน รับสมัครงาน บริการข้อมูลทางอาชีพ ตำแหน่งว่างงาน อบรมและฝึกอาชีพ โดยมีศูนย์กลางข้อมูลทางอาชีพและตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง
4.ด้านการพัฒนาตนเอง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครื่อข่าย/ชุมชน
การส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มหรือชุมชนผู้สูงอายุให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมภายในชุมชน และ/หรือระหว่างชุมชน และส่งเสริมใช้ศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเพิ่มการจัดกิจกรรมทางกีฬานันทนาการ และการถ่ายทอดภูมิปัญญา
5.ด้านการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการสาธารณสุขอื่น
ในส่วนของการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การดูแล ช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ การบริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และการจัดพาหนะอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
6.ด้านการลดหย่อนค่าโดยสาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
การรถไฟแห่งประเทศไทย: มีการลดค่าโดยสารครึ่งราคาทุกชั้นตลอดทาง ทุกสาย (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน โดยผู้สูงอายุไม่ต้องเข้าแถวรอซื้อตั๋ว พนักงานช่วยยกสัมภาระ
แอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์: การลดค่าโดยสารให้ผู้สูงอายุครึ่งราคา โดยใช้บัตรผู้สูงอายุ (Senior card) และยกเว้นค่าโดยสารวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ของทุกปี
รถไฟฟ้าใต้ดิน(MRT): การลดค่าโดยสารให้ผู้สูงอายุครึ่งราคา เป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดและยกเว้นค่าโดยสารวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ของทุกปี
รถไฟฟ้า (BTS): มีลิฟต์บริการที่สถานีหมอชิต สยาม อโศก อ่อนนุช และช่องนนทรี
รถโดยสารประจำทาง ขสมก.: มีการลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ตลอดวัน และยกเว้นค่าโดยสารในวันผู้สูงอายุแห่งชาติของทุกปี รวมทั้งมีการจัดที่นั่งสำรองเป็นการเฉพาะ
รถโดยสารบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.): ลดค่าโดยสารครึ่งราคา (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) จัดที่นั่งพักผ่อน และห้องสุขา
เครื่องบิน: การบินไทยผู้สูงอายุจะได้รับการลดหย่อนค่าโดยสารในเส้นทางการบินภายในประเทศ ในส่วนของท่าอากาศยาน มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ลิฟต์ โทรศัพท์ ทางลาด ห้องสุขา มุมพักผ่อน พื้นที่จอดรอรับ-ส่งผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ มีการดำเนินการตามมาตรการกำหนดในสายการบินถือปฏิบัติการให้ผู้โดยสารสูงอายุขึ้นเครื่องบินลำดับแรก