สังเกตอาการอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง?

โรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงวัยนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้สมองบางส่วนทำงานผิดปกติไป เนื่องจากสมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วนจึงอาจเกิดอาการได้หลากหลาย แต่อาการที่พบบ่อยและเป็นอาการที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ปากเบี้ยว, แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง และพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง หรือพูดไม่รู้เรื่อง อาการทั้ง 3 ประการนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือค่อยๆ เป็น แต่ส่วนมากจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วัน

อาการปากเบี้ยวจะสังเกตได้จากเวลาพูดหรือยิ้มแล้วใบหน้าทั้งสองข้างไม่สมมาตรกัน หรือถ้าอาการไม่รุนแรงอาจเห็นเพียงร่องแก้มทั้งสองข้างลึกไม่เท่ากัน แต่อาการปากเบี้ยวนี้ต้องเป็นอาการที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจึงสงสัยว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากบางคนอาจมีใบหน้าสองข้างไม่สมมาตรกันมาตั้งแต่เกิดก็ได้

อาการแขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยจนอาจเรียกว่าอัมพฤกษ์ หรือถ้าเป็นมากจนขยับไม่ได้เรียกว่าอัมพาต ซึ่งมักพบร่วมกับปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการอ่อนแรงเฉพาะซีก เช่น มีโรคที่สมองซีกขวาก็จะทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงด้านซ้าย (คือด้านตรงกันข้ามกับสมองที่เกิดโรค) อาการอ่อนแรงนี้อาจมีร่วมกับอาการชาหรือไม่ก็ได้

กรณีที่อ่อนแรงไม่มาก ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าเพราะแขนหรือขาหนักขึ้น หยิบของไม่ถนัดหรือทำของหล่น เดินลากขาเพราะยกลำบาก แต่ถ้าอาการอ่อนแรงเป็นมากอาจถึงขนาดยกแขนขาไม่ได้ หรือถ้ายืนอยู่ก็อาจล้มลงได้ทันที

อาการพูดผิดปกติที่พบในโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้หลายแบบ ที่พบบ่อยคือ พูดไม่ชัดเพราะลิ้นแข็ง ออกเสียงควบกล้ำไม่ได้ เสียงเปลี่ยนไปจากเดิม อาการเหล่านี้มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมการพูดทำงานผิดปกติ บางครั้งจะพบร่วมกับปากเบี้ยวก็ได้ สำหรับอาการพูดผิดปกติแบบอื่นคือ พูดไม่ออกหรือพูดตะกุกตะกัก ซึ่งมักเกิดจากโรคของสมองซีกซ้ายซึ่งควบคุมการใช้ภาษา ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหานึกคำไม่ออกหรือใช้คำผิด บางรายหากเป็นมากๆ อาจไม่สามารถพูดสื่อสารได้เลย และมักเขียนหนังสือไม่ได้ด้วย

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เข้าใจภาษาพูดและภาษาเขียน ไม่สามารถสื่อสารได้ และไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด นอกจากนี้ยังอาจใช้คำผิด เช่น เรียกนาฬิกาเป็นปากกา หรือพูดไม่รู้เรื่องจนเป็นภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจ

สรุปแล้วอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง ที่พบได้บ่อยมี 3 ประการ คือ อาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก และอาการพูดผิดปกติ ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่เคยมีอาการเหล่านี้มาก่อน ต้องนึกถึงโรคหลอดเลือดสมองเข้าไว้ และรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน

หากผู้สูงอายุคนไหนสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้อย่างง่ายๆ ดังนี้

1.ให้ยิงฟันหรือยิ้มแยกเขี้ยว แล้วสังเกตมุมปากทั้งสองข้างว่ายกขึ้นเท่ากันหรือไม่ แล้วสังเกตร่องแก้มทั้งสองข้างว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่

2.ให้เหยียดแขนทั้งสองข้างไปด้านหน้า สังเกตว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งตกลงมาต่ำกว่าอีกข้างหรือยกไม่ขึ้นหรือไม่

3.ให้ลองพูดตามประโยค แล้วสังเกตว่าพูดได้หรือไม่ พูดชัดหรือไม่ และพูดตามได้ถูกต้องหรือไม่

ถ้ามีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งจากการทดสอบทั้งสามข้อนี้ ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล นอกเหนือจากอาการที่พบบ่อยดังกล่าว ยังอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นได้อีก ได้แก่

อาการชาครึ่งซีก

การรับความรู้สึกต้องอาศัยการทำงานของสมอง โดยความหมายของอาการชาทางการแพทย์มักจะหมายถึง ความรู้สึกลดลง ได้แก่ เอาของแหลมจิ้ม (เช่น ปลายไม้จิ้มฟัน) แล้วไม่เจ็บ หรือเอามือลูบแล้วไม่รู้สึก นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงความรู้สึกที่ผิดไปจากปกติ เช่น รู้สึกยิบๆ คล้ายมีเข็มทิ่ม หรือรู้สึกแสบร้อน เป็นต้น

ในคนทั่วไปมักจะใช้คำว่า “ชา” ซึ่งอาจมีความหมายไม่เหมือนกับอาการชาของทางการแพทย์ ทำให้เกิดความสับสน บางคนปวดเมื่อยก็ใช้คำว่าชาทั้งที่อาการปวดเมื่อยมักไม่ได้เกิดจากโรคในสมองและเป็นอาการที่พบได้บ่อยจากกล้ามเนื้อล้า

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังมีอาการชาเฉพาะบางส่วนของร่างกาย ไม่ได้เป็นครึ่งซีก ที่พบได้บ่อยคือชามือข้างใดข้างหนึ่งโดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง และจะเป็นมากเวลาใช้มือนานๆ หรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า อาการชาแบบนี้มีสาเหตุจากพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉพาะในคนที่ใช้มือทำงานมากๆ

อาการเวียนศีรษะ

ผู้ป่วยที่มีโรคของสมองบริเวณส่วนหลัง ได้แก่ สมองน้อย ก้านสมอง อาจมีอาการเวียนศีรษะได้ แต่อาการเวียนศีรษะที่ถือว่าเป็นความผิดปกติจริงๆ หมายถึงอาการที่รู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งของรอบตัวหมุนไป เช่น รู้สึกว่าบ้านหมุน หรือตัวเองหมุน บางคนอาจรู้สึกโคลงเคลงคล้ายว่าพื้นเอียงไปจากเดิม หรือรู้สึกว่าแผ่นดินไหวจริงๆ

สำหรับอาการอื่นๆ เช่น รู้สึกมึนงง หนักศีรษะ โดยไม่มีอาการเวียนจนหมุนหรือโคลงเคลง ไม่นับว่าเป็นอาการเวียนศีรษะ อาจจะเรียกว่ามึนศีรษะ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมักจะไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจริงๆ คือ รู้สึกหมุนหรือโคลงเคลงขึ้นมาอย่างทันทีทันใด มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ เกิดจากโรคของหูชั้นในและโรคในสมอง โดยโรคของหูชั้นในเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยกว่าและมักจะเกิดจากหินปูนในหูชั้นในเคลื่อนที่ไปอยู่ผิดตำแหน่ง จึงทำให้เวียนศีรษะ เวลาเปลี่ยนท่า โดยเฉพาะเวลาพลิกตะแคงตัว

ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการเวียนศีรษะเป็นอาการนำอาจเป็นมากขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีอาการเวียนศีรษะที่ไม่เคยเป็นมาก่อนควรรีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีอาการเบื้องต้นหลายอย่างที่พบร่วมกับอาการเวียนศีรษะจะเป็นสัญญาณอันตราย บ่งว่าอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ อาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย อาการเห็นภาพซ้อน อาการชาครึ่งซีก อาการเดินเซมากโดยเวียนศีรษะไม่รุนแรง อาการอ่อนแรงครึ่งซีกและอาการเสียงแหบ

อาการประเมินระยะไม่ค่อยถูก

มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคบริเวณสมองน้อย อาจพบร่วมกับอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ผู้ป่วยอาจมีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่ดีโดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน โดยจะเซไปข้างใดข้างหนึ่ง ประเมินหรือกะระยะได้ไม่ดี หยิบของไม่ถูกหรือสะเปะสะปะ อาการเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วควรรีบไปพบแพทย์

อาการเห็นภาพซ้อน

มักเห็นเป็นภาพ 2 ภาพห่างกัน เกิดจากการกลอกตาผิดปกติ ซึ่งมักจะเป็นผลจากโรคบริเวณก้านสมอง การเห็นภาพซ้อนนี้ถ้าปิดตาข้างใดข้างหนึ่งภาพซ้อนจะหายไป

อาการตามัวข้างใดข้างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มักบ่งบอกถึงโรคของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณเส้นประสาทตาหรือจอประสาทตา ซึ่งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตาเป็นหลอดเลือดเดียวกับที่ไปเลี้ยงสมอง ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการตามองไม่เห็นครึ่งซีกในข้างเดียวกันของทั้งสองตา อาการดังกล่าวมักเกิดจากโรคบริเวณสมองส่วนหลัง เช่น ถ้ามีโรคบริเวณสมองส่วนหลังซีกขวาจะทำให้มองไม่เห็นครึ่งซีกซ้ายของทั้งสองตา เป็นผลให้ลานสายตาด้านซ้ายหายไป ซึ่งอาการนี้แตกต่างจากตาบอดข้างเดียว เพราะผู้ป่วยจะมองไม่เห็นทั้งซีก จึงมักมีอาการเดินชนสิ่งของด้านซ้ายหรือขับรถชนด้านซ้ายบ่อยๆ

ลองสังเกตผู้สูงวัยใกล้ตัวกันดูนะคะ ว่าท่านมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า ระวังเอาไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ เพราะโรคหลอดเลือดสมองเป็นแล้วรักษายาก การจะห้กลับมาเหมือนเดิมจะลำบากสักหน่อย ดูแลพวกท่านให้ดีๆ เพื่อที่ผู้สูงวัยจะได้อยู่กับพวกเราไปนานๆ

ข้อมูลจาก: ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี

เส้นทางสู่ความไม่มีโรค…อีกหนึ่งความเป็นจริงที่ต้องเรียนรู้

รู้เท่าทัน “อัลไซเมอร์” เตรียตัว และป้องกันกันไว้ ก่อนจะสายเกินแก้

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.