เปิดตำราดูแลผู้สูงวัย ไม่ให้เกิดภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

เปิดตำราดูแลผู้สูงวัย ไม่ให้เกิดภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า Completeaged society โดยวัดจากการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกัน

ในยุคที่เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คลินิกผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มี 3  เคล็ดลับดูแลสุขภาพที่ต้องรู้ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณที่แนะนำว่า คุณควรเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ในระยะยาวมาฝากกันค่ะ

1.สร้างสมดุลให้สุขภาพ

ด้วยการดูแลร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในจุดสมดุลกันจะช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

ดูแลร่างกาย: ลดเนื้อแดง ลดอาหารปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง กินผักให้เยอะขึ้น กินเนื้อแดงให้น้อยลง ควบคู่กับการกินธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์

ดูแลจิตใจ: แบ่งเวลานั่งสมาธิอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที เพื่อให้จิตใจสงบ ปล่อยวางและอยู่กับปัจจุบัน

ดูแลสิ่งแวดล้อม: หมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ลดแหล่งสะสมเชื้อโรค ปลูกต้นไม้บริเวณรอบๆ บ้านเพื่อให้ร่มเงา และพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีแนวคิดในการดูแลสุขภาพกาย จิตใจ แบบเดียวกับคุณ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติที่ดีซึ่งกันและกัน

2.ลดการกินอาหารเสริม เพิ่มสมุนไพรระหว่างวัน

แม้อายุมากขึ้นจะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดน้อยลง แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาหรืออาหารเสริมเพื่อเป็นทางเลือกเดียวในการดูแลสุขภาพ เพียงนำสมุนไพรที่มีอยู่รอบตัวมาปรุงเป็นเครื่องดื่มหรือเป็นส่วนประกอบในอาหาร เช่น นำใบเตยมาต้มจิบระหว่างวัน นำขี้เหล็กมาปรุงเป็นแกงขี้เหล็กเป็นอาหารมื้อเย็น นำขมิ้นมาขัดตัวเบาๆ เพื่อช่วยขจัดเซลล์เสื่อมสภาพให้หลุดออก ได้ประโยชน์จากสมุนไพร และลดโอกาสการเกิดสารเคมีตกค้างในร่างกายได้อีกด้วย

3.วางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย

วางแผนวิธีการออกกำลังกายวัยเกษียณไว้ตั้งแต่วันนี้ โดยเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะกับข้อจำกัดของตัวคุณเอง หรือเลือกจากสถานที่ที่เดินทางไปสะดวก ไม่ก็เข้าร่วมชมรมกีฬาที่คุณชอบเพื่อทำความรู้จักกับคนวัยเดียวกัน เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ คุณก็สามารถไปออกกำลังกายได้ทันที

อย่าลืมว่าเวลาเดินไวกว่าที่คุณคิด และอายุก็เดินเร็วไม่แพ้กัน เริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้คุณก้าวเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างมั่นคงและมีความสุข ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน

การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่าง เรามีคำแนะนำจากกรมอนามัยที่ได้ออกมาเผยเคล็ดลับ หรือแนวคิดที่เรียกว่า 4 Smart มาบอกทุกๆ คน เพื่อใช้เป็นหลักง่ายๆ ที่ถ้าผู้สูงอายุทำได้ก็ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพดี

แนวคิด 4 Smart สำหรับผู้สูงอายุ

1.Smart Walk ผู้สูง อายุควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ไม่หกล้ม โดยให้ผู้สูงอายุออก กำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีแนวโน้ม หกล้มประมาณ 28-35% ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 32-42% เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 70 เป็นต้นไป และพบว่าเมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหัก พบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นตลอดไป นอกจากนี้ ยังพบว่าการหกล้มเป็นสาเหตุสำคัญของการเข้าโรงพยาบาลในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งการหกล้มในผู้สูงอายุอาจกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดความพิการ หรือแม้กระทั่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้

2.Smart Brain & Emotional เน้นให้ผู้สูงอายุดูแลฝึกทักษะทางสมอง ส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ โดยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียน ผู้สูงอายุ รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมการไม่สูบบุหรี่

3.Smart Sleep คือ นอนหลับอย่างเพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

4.Smart Eat ผู้สูงอายุควรได้กินอาหารตามหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล ซึ่งมีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี มีฟันใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่

นอกเหนือจากการส่งเสริมสุขภาพกายในด้านต่างๆแล้ว ยังต้องมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ความรอบรู้ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคดิจิทัล รวมถึงให้ทุกคนในครอบครัวควรสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มอบความรักต่อผู้สูงอายุด้วยการกอดพ่อแม่ ดูแลตัดเล็บมือ เล็บเท้า พาผู้สูงอายุไปทำบุญ ปฏิบัติธรรมที่วัด ชวนทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินและมีความสุขกับทุกคนในครอบครัว อันเป็นการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อผู้สูงอายุที่เป็นบุคคลสำคัญของครอบครัวด้วยค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ก่อนสู่สังคมสูงวัย…ถ้าจะให้ดี ควรวางแผนก่อนเกษียณจะดีที่สุด!

เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ไม่สบาย เราวางแผนวันนั้นอย่างไร? ที่นี่มีคำตอบ!

HOW TO SUPPORT รับมืออย่างไรเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนัก

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.