HOW TO SUPPORT รับมือผู้ป่วย อย่างไรเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนัก
ในทุกๆ ปี ทั่วโลกมีคู่รักที่ต้องเผชิญปัญหาคู่ชีวิตเจ็บป่วยด้วยโรค ร้ายแรง ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต อัลไซเมอร์ และอื่นๆ ซึ่งการรับมือเรื่องนี้ไม่ได้ง่ายเลย และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับคู่ชีวิตหลายคู่ ซึ่งงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้รวบรวมคำแนะนำถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อข้ามผ่านช่วงเวลายากๆ นี้ไป และเป็นผู้สนับสนุนคู่ชีวิตที่เจ็บป่วยให้ข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้อย่างเข้มแข็ง
จะทำอย่างไรให้คุณเข้มแข็ง และเป็นกำลังใจสำคัญให้ชีวิตคู่ของคุณได้ วันนี้เรามีคำแนะนำจากคลินิกจิตวิทยา โรงพยาบาลจอนห์ฮอปกินส์ รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มาแนะนำค่ะ
รับฟังและใช้เวลาร่วมกัน
อย่ากังวลในสิ่งที่ต้องพูดออกไป หากคำพูดนั้นสื่อสารด้วยความรักและมีเจตนาที่ต้องการสนับสนุนความเชื่อมั่นของเขาหรือเธอ หรือแม้กระทั่งการนั่งเงียบๆ อยู่เคียงข้างก็เป็นการสื่อสารที่ดีได้
สร้างกิจวัตรร่วมกัน
ไม่ว่าจะเป็นการดูรายการโทรทัศน์ช่องโปรด หรือชวนกันเดินเล่นในสวนสาธารณะ ก็สามารถสื่อถึงความรู้สึกเหล่านั้นได้ ที่สำคัญ ควรทำกิจกรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นกิจวัตร เพราะช่วยสร้างความมั่นคงทางใจได้แบบหนึ่ง
คอยให้ข้อมูลสำคัญ
ช่วงเวลาที่ได้ทราบเรื่องโรคร้ายเป็นเวลาที่ผู้ป่วยมีความกังวลกับโรค ตัวคู่ชีวิตเองก็กังวลเช่นกัน แต่จำเป็นต้องเสพข้อมูลอย่างมีสติ ที่สำคัญ ควรเลือกข้อมูลและวิธีบอกเล่าที่ส่งเสริมความคิดในเชิงบวกเสมอ
เป็นตัวแทนการสื่อสารที่ดี
นอกจากรับทราบความคืบหน้าจากแพทย์มาบอกผู้ป่วยด้วยวิธีที่เหมาะสมแล้ว ผู้ดูแลที่เป็นคู่ชีวิตจำเป็นต้องพูดคุยสื่อสารกับแพทย์ถึงความต้องการของผู้ป่วย(ไม่ใช่ความต้องการของคู่ชีวิต) โดยคำนึงถึงผลการรักษาในระดับที่เหมาะสม หากวิธีการเหล่านั้นไม่ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย
ระมัดระวังความจู้จี้เกินพอดี
แม้เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว สาเหตุแห่งความเจ็บป่วยนั้นมาจากตัวผู้ป่วยเอง แต่การบ่นถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ช่วยให้โรคหายไปได้ รวมถึงความเข้มงวดในวิธีดูแลตัวเองบางอย่าง หากมากเกินพอดีก็ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยกดดันมากเกินไปเช่นกัน ทุกอย่างจึงควรเป็นไปอย่างพอดีและมีเหตุผล
ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
แม้คุณกับคู่ชีวิตซึ่งเจ็บป่วยจะไม่เคยพึ่งพาใครมาก่อน แต่เมื่อเจ็บป่วยแล้ว ทุกอย่างอาจควบคุมไม่ได้เหมือนเก่า ดังนั้นหากจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจริงๆ ก็อย่าได้ลังเล ซึ่งหมายรวมถึงแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วางแผนการเงินอย่างรัดกุม
เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายการรักษาส่วนใหญ่ต้องใช้เงินเยอะ คุณควรเป็นหัวแรงสำคัญในการจัดสรรเงินที่มีและวางแผนการเงินในอนาคต เพื่อให้การรักษาต่อเนื่องเท่าที่จำเป็น
แสดงความเชื่อมั่นต่อการรักษา
ความเชื่อมั่นของคุณสำคัญมากต่อกำลังใจของผู้ป่วย ดังนั้นหากคู่ชีวิตเลือกรับการรักษาแบบใดคุณควรแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในทางเลือกนั้นเป็นระยะ เพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย
เพียงเท่านี้คนข้างกายของคุณก็มีทั้งแรงใจและแรงกายที่แข็งแรงพร้อมสู้โรคโดยมีคุณเคียงข้างเสมอค่ะ