อาหารต้านโรคหัวใจ

แพทย์แนะนำ กิน-อยู่ ให้ห่างไกลโรคหัวใจ

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ อาหารต้านโรคหัวใจ กินอยู่อย่างไรให้ไกลโรค

บทความนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ  มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์
เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ คุณหมอนิธิได้แนะนำการกิน อาหารต้านโรคหัวใจ ไว้ดังนี้

อาหารต้านโรคหัวใจ

ปรับอาหาร  กินดีก่อนป่วย

คุณหมอนิธิเล่าถึงการกินอาหารทั้งสำหรับคนที่สุขภาพปกติและคนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจว่า

“กรณีที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง  ไม่เป็นโรคหัวใจหรือโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ  เช่น  เบาหวาน  ไขมันในเลือดสูง  ความดันโลหิตสูง  ผมมีคำแนะนำที่สั้นมากๆ  คือ กินให้หลากหลายและหยุดก่อนอิ่ม

“เหตุที่แนะนำเช่นนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลโภชนาการบอกว่า  ไม่ควรกินไขมัน  คนก็ทำตาม  กินไขมันน้อยลง  แต่ไปกินแป้งและน้ำตาลมากขึ้น  สรุปว่า  อ้วนและเสี่ยงโรคหัวใจอยู่ดี  ปัญหาสุขภาพทั้งหลายเกิดจากการกินไม่สมดุล ไม่หลากหลาย  พอให้ลดอาหารประเภทหนึ่ง  ก็จะไปเพิ่มปริมาณอาหารประเภทอื่นแทน”

แล้วการ“กินน้อย”ดีกว่า “กินเกิน”อย่างไร คุณหมอนิธิอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ที่ผมบอกให้กินน้อย  หยุดก่อนอิ่ม  เพราะคนส่วนใหญ่มักจะกินเกิน  ขณะนี้มีรายงานวิจัยออกมาสนับสนุนแล้วว่า การกินน้อย  ไม่กินเกิน  ช่วยให้อายุยืน  โอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆก็ลดลง  ได้ผลชัดเจนทั้งในระดับยีน  ระดับเซลล์ระดับสัตว์ทดลอง  ซึ่งล้วนแต่พบตรงกันว่า  กินน้อย  สุขภาพจะแข็งแรง  และอายุยืนขึ้น

“งานวิจัยของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่า  ถ้ามีการอดระยะสั้นๆจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่  ดังนั้นอย่ากินให้อิ่ม แต่ให้หยุดก่อนอิ่มจึงจะพอดีต่อสุขภาพ  ข้อนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเสวยจุ มีพระวรกายใหญ่  จึงทำให้ประทับนั่งฟังเทศนาธรรมได้ไม่ถนัดว่า  การบริโภคมากเกินไปเป็นทุกข์”

วิธีปรับอาหาร ป้องกันโรคหัวใจ

คุณหมอนิธิแนะนำว่า หัวใจสำคัญคือ ต้องกินให้สมดุลทั้ง 5 หมู่ และหยุดในปริมาณที่พอเหมาะ ดังนี้

• ต้องหยุดเมื่อไร เรื่องนี้เป็นปัจจัยเฉพาะบุคคล เทียบกันไม่ได้ให้สังเกตปริมาณว่า กินไปแล้วพอหายหิว ขอให้หยุด ถ้ากินเกินกว่านี้
จะรู้สึกอิ่ม มากกว่านี้จะรู้สึกจุก ซึ่งเป็นการกินเกิน จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน

• นับอาหารเป็นคำๆ ถ้าเรากินน้อยลง กระเพาะอาหารจะเคยชินวิธีนี้ช่วยคุมน้ำหนักได้ดี แต่ต้องมีสติและฝึกฝนไปเรื่อยๆ คุณหมอนิธิ
ยกตัวอย่างว่า มีคนไข้คนหนึ่งใช้วิธีนับอาหารเป็นคำๆดูว่าอิ่มพอดีนับได้ 15-16 คำ ก็ใช้เกณฑ์นี้เป็นมาตรฐาน เมื่อทำต่อเนื่องน้ำหนักก็ค่อยๆลดลงได้ผลน่าพอใจมาก

• กินอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่มได้นานและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้นอีกด้วย หลายคนมักพูดว่า ถ้าไม่กินข้าวจะรู้สึกไม่อยู่ท้อง แต่ตัวผมเองกินข้าวน้อยเพราะพิจารณาจากวัยและปริมาณพลังงานที่ต้องการต่อวัน

• กินไขมันบ้าง กรมอนามัยแนะนำว่า ควรกินไขมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาในคนปกติ และไม่เกินวันละ 3 – 4 ช้อนชาในผู้ป่วยเบาหวาน
ทั้งนี้ขอให้เลือกไขมันดีจากถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก

• อาหารต้องห้าม คุณหมอนิธิชี้ว่า เป็นกลุ่มอาหารพลังงานสูงสารอาหารต่ำ (Empty Calories) เช่น เครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง กาแฟเย็น
ชานม ดื่มลงไปแป๊บเดียวหายวับ ไม่อยู่ท้อง ได้แคลอรีสูง แต่สารอาหารต่ำ 1 แก้วได้พลังงานมากกว่า 100 แคลอรี เทียบเท่าข้าว 2 ทัพพี

นอกจากได้พลังงานเกินแล้ว อาหารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายอยากอาหารมากขึ้น แตกต่างจากอาหารที่ใช้เวลาย่อยนาน ซึ่งร่างกาย
ค่อยๆดูดซึมแคลอรีเข้าไป แบบนั้นไม่ต้องกินมากแต่จะรู้สึกอิ่มนานกว่า

หน้าถัดไป คุณหมอจะแนะนำเกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจค่ะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.