3. น้ำมันงา
น้ำมันงาสกัดจากเมล็ดงา ผลิตมากในประเทศจีน อินเดีย พม่า แอฟริกา เม็กซิโก ประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Yale Journal of Biology and Medicine ระบุว่า เมื่อนักวิจัยให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอายุ 35 – 60 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาขับปัสสาวะ กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันงาแทนน้ำมันชนิดอื่น โดยใช้น้ำมันงาปรุงอาหารเฉลี่ยวันละ 35 กรัม หลังจากนั้น 45 วัน นักวิจัยจึงทดลองให้ผู้ป่วยกลับมากินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันชนิดเดิมที่เคยใช้
ผลการทดลองพบว่า น้ำมันงาทำให้ค่าความดันโลหิตทั้งตัวบนและตัวล่างกลับสู่ระดับปกติ ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกายลดลงแต่หลังจากหยุดกินน้ำมันงา ค่าสุขภาพต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น
ผลการทดลองดังกล่าวสรุปว่า น้ำมันงาช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่กินยาขับปัสสาวะร่วมด้วยได้
HOW TO COOK
น้ำมันงามีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวมีจุดเกิดควันต่ำ ไม่เหมาะกับการทอดที่ต้องใช้ไฟแรง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดสารก่อมะเร็ง เหมาะสำหรับการผัดโดยใช้ไฟแรงปานกลาง หรือทำน้ำสลัด

4. น้ำมันรำข้าว
น้ำมันรำข้าวคือผลผลิตจากข้าว มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง ทั้งยังมีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่เหมาะสม จึงนับเป็นน้ำมันอเนกประสงค์ที่สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู
นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษาผู้หญิงไทยที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง โดยผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับคำแนะนำให้กินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม คือ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 55 โปรตีนร้อยละ 15 และไขมันร้อยละ 20 ของพลังงานรวม และควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่าวันละ 300 มิลลิกรัม โดยกินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันต่างชนิดกัน
พบว่า กลุ่มที่กินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันรำข้าว มีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด ชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง
กลุ่มที่กินน้ำมันผสมจากน้ำมันรำข้าวและน้ำมันปาล์มในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 มีระดับไขมันในเลือดทั้งสองชนิดลดลงเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มที่กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันปาล์มเพียงอย่างเดียว มีระดับคอเลสเตอรอลร้ายในเลือดชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น
HOW TO COOK
สามารถใช้น้ำมันรำข้าวทอด ผัดหรือทำน้ำสลัดได้
น้ำมันต่างกันที่ปริมาณกรดไขมัน
ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสกัดจากพืชชนิดไหน ล้วนประกอบด้วยกรดไขมัน 3 ชนิด ได้แก่ กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acids – SFAs) กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acids) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated Fatty Acids)
อาจเพราะชื่อกรดไขมันไม่อิ่มตัวยาวชวนเวียนหัว จึงมีคนตั้งชื่อเล่นให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวว่ามูฟ่า (MUFAs) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งว่าพูฟ่า (PUFAs)
กรดไขมันอิ่มตัวส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณคอเลสเตอรอลทั้งชนิดดีและร้ายในเลือด
กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว หรือมูฟ่า (MUFAs) เป็นกรดไขมันที่ควรค่าแก่การกิน เพราะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดร้ายที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดีที่ช่วยนำคอเลสเตอรอลร้ายไปกำจัดที่ตับ
กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือพูฟ่า (PUFAs)ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลทั้งสองชนิดในเลือด ทั้งชนิดดีและร้าย
กรดไขมันโอเมก้า - 3 (n-3 PUFAs) และ 6 (n-6 PUFAs) จัดเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFAs) กรดไขมันโอเมก้า - 3 เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยพัฒนาสมอง การเจริญเติบโต และการมองเห็น ส่วนกรดไขมันโอเมก้า - 6 ช่วยให้เลือดแข็งตัว
กรดไขมันทั้งสองชนิดจะทำงานร่วมกัน เช่น หากเกิดบาดแผล มีเลือดออก กรดไขมันโอเมก้า - 6 จะช่วยให้เกล็ดเลือดแข็งตัวและเลือดหยุดไหลเร็วขึ้น ในขณะที่กรดไขมันโอเมก้า - 3 มีคุณสมบัติตรงข้าม คือทำให้หลอดเลือดขยายเลือดไหลเวียนดี ช่วยลดความดันโลหิต