วิตามินแก้ปวดศีรษะ จากไมเกรน
ศีรษะเป็นอวัยวะที่มักพบอาการผิดปกติอยู่เสมอ อาจารย์สาทิสอธิบายถึงอาการผิดปกติบริเวณศีรษะซึ่งมีสาเหตุจากท็อกซินไว้ในหนังสือ เรื่องของภูมิชีวิตสำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ สรุปได้ว่า
CHECKLIST
อาการผิดปกติของศีรษะจากท็อกซินภายในร่างกาย
- ปวดหัวเป็นครั้งคราว มีอาการปวดเมื่อเกิดความกดดันหรือความตึงเครียด
- ปวดไมเกรนอย่างรุนแรง มีอาการปวดตุบ ๆ ทันทีทันใด ปวดหัวข้างเดียว บางครั้งมีอาการตามืดมัว
- ปวดศีรษะและมีไข้ หน้าชา อาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดการอักเสบ
อาการผิดปกติของศีรษะจากท็อกซินภายนอก
- ปวดศีรษะเวลาเดียวกัน (มีเวลาแน่นอน) ทุกวัน และไม่ใช่เราปวดคนเดียว คนรอบข้างก็มีอาการเหมือนกัน
- มีอาการปวดไมเกรนระดับปานกลาง คือปวดแบบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความเครียด อาจจะเกิดจากการดื่มเหล้า หรือแพ้ยาบางชนิด
- ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อาจเกิดจากการสูดควันพิษ
- ผมร่วงทันทีทันใด อาจเกิดจากการสูดควันพิษ ได้รับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด

ไลฟ์สไตล์ก่อท็อกซิน
จะเห็นได้ว่า อาการผิดปกติสำคัญบริเวณศีรษะนั้นคือ โรคไมเกรน โดยเฉพาะคนทำงานมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับอาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหัวเรื้อรังแสนทรมานที่เกิดขึ้นนานหลายชั่วโมงร่วมกับอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้อาเจียน
American Council for Headache Education ให้ข้อมูลว่า อาการปวดหัวไมเกรนเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ความกดดันในการทำงานชีวิตที่เร่งรีบจนทำให้ต้องงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งพฤติกรรมทำงานจนลืมนอน อดอาหารหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไปเพื่อลดหุ่น
นอกจากนี้ยังพบว่า การกินอาหารบางชนิดซ้ำๆ อาจมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกันโดยอาหารที่ควรระวัง เช่น กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน นมช็อกโกแลต เนยแข็งชนิดต่างๆ ขนมปังที่หมักด้วยยีสต์ เค้ก คุกกี้ โดนัท พิซซ่า ขนมปังและขนมปังกรอบที่มีส่วนผสมของเนยแข็ง ขนมอบที่มีส่วนประกอบของช็อกโกแลต ผงชูรส อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป
VITAMIN GUIDE
นอกจากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง อาจารย์สาทิสแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีกินควบคู่ไปกับการรักษาทางแผนปัจจุบัน โดยเริ่มจากลดน้ำตาลขัดขาวของหวาน น้ำอัดลม กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
จากนั้นงดอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ อาจเปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจชั่วคราว หากเลือกกินอาหารเจ ควรงดเนื้อเทียมร่วมด้วย เพราะบางคนแพ้ กินแล้วไม่ย่อย ทำให้เกิดท็อกซินในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น หรือหันมากินตามสูตรอาหารชีวจิต โดยเว้นเนื้อสัตว์ในช่วง 2 สัปดาห์แรก และหลังจากนั้นสามารถกินเนื้อปลาเพิ่มได้สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
ส่วนวิตามินเสริม อาจารย์สาทิสแนะนำดังนี้
- วิตามินบีคอมเพล็กซ์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด เวลาเช้า
- วิตามินบี 3 หรือไนอะซินนาไมด์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร
- โคโลไมต์ (แคลเซียมและแมกนีเซียม) 1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น
วิตามินช่วยลดอ้วน บอกลาไขมันช่องท้อง
ช่องท้องนั้นประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน อาการที่พบบ่อย คือ การปวดบริเวณช่องท้องซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบของกระเพาะอาหาร เกิดการสะสมของไขมันในช่องท้องจนเกิดโรคเรื้อรังตามมา ซึ่งอาจารย์สาทิสแนะนำวิธีสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นว่า
CHECKLIST
อาการผิดปกติของช่องท้องจากท็อกซินภายใน
- ปวดท้อง จากหน้าท้องไปจนถึงหลัง คลื่นไส้ อาเจียน อาจเกิดจากการอักเสบของตับอ่อน
อาการผิดปกติของช่องท้องจากท็อกซินภายนอก
- ปวดท้องและหมดแรง นอนไม่หลับ ตาพร่ามัวอาจได้รับก๊าซพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์จากการทำงานด้านอุตสาหกรรม

ไลฟ์สไตล์ก่อท็อกซิน
ผลการวิจัยจากวารสาร Diabetology & Metabolic Syndrome ยืนยันว่า อาชีพที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อย มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงกว่าอาชีพที่มีกิจกรรมทำตลอดวัน โดยนักวิจัยเก็บข้อมูลจากผู้ชายชาวเยอรมัน 143 คน เปรียบเทียบระหว่างอาชีพพนักงานออฟฟิศกับพนักงานดับเพลิง
เป็นไปตามคาดหมาย พนักงานออฟฟิศซึ่งทำงานนั่งโต๊ะเป็นส่วนใหญ่ มีเส้นรอบเอวมากกว่าพนักงานดับเพลิงที่เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลาขณะผจญเพลิง นอกจากนี้ยังพบว่า พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันร้ายในเลือด ค่าดัชนีมวลกาย (ดัชนีชี้วัดความอ้วน) และระดับความดันโลหิต สูงกว่าพนักงานดับเพลิงอีกด้วย โดยพบว่า พนักงานออฟฟิศเป็นโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 33 ในขณะที่พนักงานดับเพลิงเป็นโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 14
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลผ่านหนังสือ ความรู้เรื่องโรคอ้วนลงพุง ว่า โรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic Syndrome หมายถึง กลุ่มโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณเอวหรือช่องท้องปริมาณมากเกินไป
ไขมันเหล่านี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินมีประสิทธิภาพลดลง เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดโรคไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหลายระบบ
พฤติกรรมเสี่ยงของโรคนี้นอกจากการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวันน้อย ยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารพลังงานสูง อาหารหวาน มัน เค็ม เป็นประจำ มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้อ้วนง่าย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์หรือรังไข่ ผลจากยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า อายุที่มากขึ้นทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายลดลง การอดนอนจนทำให้ระดับอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
VITAMIN GUIDE
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงนอกจากพบว่า ผู้ชายมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรขึ้นไป และผู้หญิงมีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไปแล้ว ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เช่นระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ระดับคอเลสเตอรอลดีชนิดเอชดีแอลต่ำ ความดันโลหิตสูงระดับน้ำตาลในเลือดสูง
อันดับแรกจึงแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะน้ำหนักทุกกิโลกรัมที่ลดลงไม่เพียงช่วยลดพุง แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพต่างๆ อีกด้วย
สำหรับผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงสมาคมโรคหัวใจ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กินปลาทะเลหรือเสริมด้วยกรดไขมันโอเมก้า - 3 ที่มีส่วนประกอบของอีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ(DHA) ที่สกัดจากปลาทะเลวันละ 2 – 4 กรัมเพื่อช่วยลดไขมันในเลือด
หากมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แนะนำให้กินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง เช่น มะระขี้นก แตงกวา กล้วย แก้วมังกรเพราะโพแทสเซียมมีผลช่วยขับโซเดียม ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลง ส่วนแมกนีเซียมหากมีมากในเลือด จะช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือดและกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง
นอกจากนี้แนะนำให้กินธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง แทนข้าวขาว หลีกเลี่ยง แป้งและน้ำตาลขัดขาว เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน