โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ

วิถีกินอยู่อย่างง่าย ประหยัด หยุดความเสี่ยง โรคหัวใจ

วิถีกินอยู่อย่างง่าย ประหยัด หยุดความเสี่ยง โรคหัวใจ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต จากโรคหลอดเลือดหัวใจ 1 คน และพบผู้ป่วย โรคหัวใจ ขาดเลือดสูงถึง ชั่วโมงละ 30 คน ทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โรคหัวใจเฉลี่ยสูงถึงปีละ 7,000 ล้านบาท

ชีวจิต ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ คุณหมอนิธิ ได้จัดโปรแกรมดูแลสุขภาพลดความเสี่ยง โรคหัวใจ ที่ครอบคลุมทั้งด้านอาหาร ออกกำลังกาย และการฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและประหยัดที่สุด มามอบให้คนรักสุขภาพทุกท่านไว้ดังนี้

 

FOOD FOR HEART  ปรับอาหาร กินดีก่อนป่วย

คุณหมอนิธิเล่าถึงการกินอาหารทั้งสำหรับคนที่สุขภาพ ปกติและคนที่ป่วยด้วย โรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความ เสี่ยง โรคหัวใจ ว่า

“กรณีที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็น โรคหัวใจ หรือโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง โรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ผมมีคำแนะนำที่สั้นมากๆ คือ กินให้หลากหลายและหยุดก่อนอิ่ม

“เหตุที่แนะนำเช่นนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลโภชนาการ บอกว่า ไม่ควรกินไขมัน คนก็ทำตาม กินไขมันน้อยลง แต่ ไปกินแป้งและน้ำตาลมากขึ้น สรุปว่า อ้วนและเสี่ยง โรคหัวใจ อยู่ดี ปัญหาสุขภาพทั้งหลายเกิดจากการกินไม่สมดุล ไม่หลากหลาย พอให้ลดอาหารประเภทหนึ่ง ก็จะไปเพิ่ม ปริมาณอาหารประเภทอื่นแทน”

แล้วการ “กินน้อย” ดีกว่า “กินเกิน” อย่างไร คุณหมอนิธิ อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ที่ผมบอกให้กินน้อย หยุดก่อนอิ่ม เพราะคนส่วนใหญ่ มักจะกินเกิน ขณะนี้มีรายงานวิจัยออกมาสนับสนุนแล้วว่า การกินน้อย ไม่กินเกิน ช่วยให้อายุยืน โอกาสป่วยด้วยโรค เรื้อรังต่างๆ ก็ลดลง ได้ผลชัดเจนทั้งในระดับยีน ระดับเซลล์ ระดับสัตว์ทดลอง ซึ่งล้วนแต่พบตรงกันว่า กินน้อย สุขภาพ จะแข็งแรง และอายุยืนขึ้น

“งานวิจัยของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่า ถ้ามีการอดระยะ สั้นๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ ดังนั้นอย่ากินให้อิ่ม แต่ให้หยุดก่อนอิ่มจึงจะพอดีต่อสุขภาพ ข้อนี้ตรงกับที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเสวยจุ มีพระวรกายใหญ่ จึงทำให้ประทับนั่งฟังเทศนาธรรมได้ไม่ถนัด ว่า การบริโภคมากเกินไปเป็นทุกข์”

กินให้สมดุล ป้องกันโรคหัวใจ
ปรับพฤติกรรมการกินให้เกิดความสมดุล ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้

HOW – TO ปรับวิธีกินก่อนป่วย

คุณหมอนิธิแนะนำว่า หัวใจสำคัญคือ ต้องกินให้สมดุลทั้ง 5 หมู่ และหยุดในปริมาณที่พอเหมาะ ดังนี้

  • ต้องหยุดเมื่อไร เรื่องนี้เป็นปัจจัยเฉพาะบุคคล เทียบกันไม่ได้ ให้สังเกตปริมาณว่า กินไปแล้วพอหายหิว ขอให้หยุด ถ้ากินเกินกว่านี้ จะรู้สึกอิ่ม มากกว่านี้จะรู้สึกจุก ซึ่งเป็นการกินเกิน จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ แน่นอน
  • นับอาหารเป็นคำๆ ถ้าเรากินน้อยลง กระเพาะอาหารจะเคยชิน วิธีนี้ช่วยคุมน้ำหนักได้ดี แต่ต้องมีสติและฝึกฝนไปเรื่อยๆ คุณหมอนิธิ ยกตัวอย่างว่า มีคนไข้คนหนึ่งใช้วิธีนับอาหารเป็นคำๆ ดูว่าอิ่มพอดีนับได้ 15 – 16 คำ ก็ใช้เกณฑ์นี้เป็นมาตรฐาน เมื่อทำต่อเนื่องน้ำหนักก็ค่อยๆ ลดลง ได้ผลน่าพอใจมาก
  • กินอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน และระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้นอีกด้วย หลายคนมักพูดว่า ถ้าไม่กินข้าวจะ รู้สึกไม่อยู่ท้อง แต่ตัวผมเองกินข้าวน้อยเพราะพิจารณาจากวัยและปริมาณ พลังงานที่ต้องการต่อวัน
  • กินไขมันบ้าง กรมอนามัยแนะนำว่า ควรกินไขมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาในคนปกติ และไม่เกินวันละ 3 – 4 ช้อนชาในผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้ขอให้เลือกไขมันดีจากถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก
  • อาหารต้องห้าม คุณหมอนิธิชี้ว่า เป็นกลุ่มอาหารพลังงานสูง สารอาหารต่ำ (Empty Calories) เช่น เครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง กาแฟเย็น ชานม ดื่มลงไปแป๊บเดียวหายวับ ไม่อยู่ท้อง ได้แคลอรีสูง แต่สารอาหารต่ำ 1 แก้วได้พลังงานมากกว่า 100 แคลอรี เทียบเท่าข้าว 2 ทัพพี

นอกจากได้พลังงานเกินแล้ว อาหารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกาย อยากอาหารมากขึ้น แตกต่างจากอาหารที่ใช้เวลาย่อยนาน ซึ่งร่างกาย ค่อยๆ ดูดซึมแคลอรีเข้าไป แบบนั้นไม่ต้องกินมากแต่จะรู้สึกอิ่มนานกว่า

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.