รักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง, รักษามะเร็ง, เทคโนโลยีรักษามะเร็ง, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เทคโนโลยี รักษามะเร็ง จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เทคโนโลยี รักษามะเร็ง จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

มะเร็ง เป็นโรคที่มีความซับซ้อน เมื่อเกิดขึ้นในบริเวณใดแล้ว หากไม่ได้รับการ รักษามะเร็ง ทันท่วงทีและถูกต้องก็จะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้

ชีวจิต มีโอกาสได้เข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีร่วมรักษาประจำโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านการ รักษามะเร็ง โดยเฉพาะ จึงได้นำองค์ความรู้ล่าสุดในการรักษามะเร็งตับ กับมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะบริเวณศีรษะและลำคอมาฝากค่ะ

 

LIVER CANCER มะเร็งตับ และแนวทางการรักษา

ข้อมูลจาก International Agency for Research on Cancer ระบุว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับ มีอัตราการเสียชีวิตสูง หากไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 ปี จะมีอัตรารอดชีวิตเพียงร้อยละ 17.5 และใน 2 ปี อยู่ที่ร้อยละ 7.3

ส่วนเรื่องแนวทางการรักษานั้น แพทย์หญิงเอกอนงค์ วรกิตสิทธิสาธร แพทย์เฉพาะทางด้านรังสี วินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา แผนกรังสีวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายว่า

“ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงใด ๆ โดยเฉพาะในระยะแรก หากเริ่มมีอาการปวดท้องหรือท้องบวมมากขึ้น มักปรากฏเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีการทำงานของตับที่แย่ลงร่วมด้วย

“ซึ่งกว่าจะมีอาการปรากฏและเข้ามาพบแพทย์ก้อนเนื้อร้ายก็โตและเข้าสู่ระยะท้าย ๆ เช่น ระยะ 3 และ 4 แล้ว ซึ่งหากก้อนเนื้อใหญ่มาก การผ่าตัดจะทำได้ยาก เพราะเนื้อตับส่วนที่เหลือหลังการผ่าตัดมีไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องให้ยาเพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อก่อนผ่าตัด

“ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย แบบนี้ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้เช่นกัน ปัจจุบันทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีแนวทางการรักษาที่เหมาะกับเงื่อนไขดังกล่าว โดยใช้สารเภสัชรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง คือ ยิตเทรียม 90 (Yittrium90) ไปทำลายก้อนมะเร็งเฉพาะจุดที่ต้องการ โดยไม่มีรังสีแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียงค่ะ”

ส่วนขั้นตอนการรักษานั้น แพทย์หญิงเอกอนงค์ อธิบายว่า

“เราจะให้สารเภสัชรังสีผ่านสายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กตรงเข้าไปในตับในบริเวณของก้อนเนื้อร้าย แต่ละครั้งผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 2 - 3 วันก็มีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ ใช้เวลาพักฟื้นและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้ยาเคมีบำบัด หลังการรักษาผู้ป่วยก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นแค่ไม่อยากให้ออกกำลังกายหนัก ๆ แต่ถ้าแค่เดินหรือออกไปทำงานก็ไม่มีปัญหาค่ะ

“ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว มีเคสคนไข้ผู้หญิงอายุ 50 ปี ตัวเล็กนิดเดียวแต่มีก้อนมะเร็งใหญ่เท่ากำปั้น ที่ผ่านมาไม่มีอาการ ตรวจเจอก้อนในตับจากการตรวจสุขภาพประจำปี พบครั้งแรกก้อนใหญ่มาก ผ่าไม่ได้ มาที่นี่เราก็ให้ยาให้ก้อนมะเร็งค่อย ๆ ยุบ และใช้วิธีอุดเส้นเลือดช่วยเพิ่มขนาดของตับเพื่อให้ผ่าตัดได้ พอผ่าตัดออก ขณะนี้ก็ยังสบายดีค่ะ”

กรณีของผู้ป่วยดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างที่แพทย์หญิงเอกอนงค์อยากจะฝากถึงคนไข้มะเร็งตับว่า อย่าเพิ่งสิ้นหวัง และระบุว่า นอกจากสารเภสัช-รังสีจะใช้รักษามะเร็งตับระยะกลางขึ้นไปได้ผลดีแล้ว ยังเหมาะกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กระจายมาที่ตับ เพราะคนไข้ยังมีเนื้อตับดี ไม่มีอาการตับแข็งจึงให้ผลการรักษาที่ดีได้เช่นกัน

รักษามะเร็ง, โรคมะเร็ง, รักษามะเร็ง, เทคโนโลยีรักษามะเร็ง, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

HEALTH CHECKUP มะเร็งตับ ตรวจเร็วรักษาทัน

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่ามะเร็งตับคือชนิดของมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดเป็นอันดับ 1 โดยเกิดในผู้ป่วยเพศชาย (คิดเป็นร้อยละ 40.6 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศชายทั้งหมด) และอันดับ 3 ในผู้ป่วยเพศหญิง (คิดเป็นร้อยละ 19.9 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศหญิงทั้งหมด) และติดโผในการสำรวจโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยสูงสุด 1 ใน 5 อันดับเสมอ

แพทย์หญิงเอกอนงค์ วรกิตสิทธิสาธร แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา แผนกรังสีวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษาโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แนะนำว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งตับ ได้แก่ ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวอาทิ ไวรัสตับ เบาหวาน ไขมันพอกตับและดื่มสุราเป็นประจำ ต้องตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องทุกปี หากพบก้อนที่ตับจะได้เข้ารับการรักษาได้ทัน

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.