สมาธิบำบัด, ประโยชน์นั่งสมาธิ, นั่งสมาธิ

10 สมาธิบำบัด (MEDITATION) ช่วยป้องกันและแก้โรค

3 ดนตรีบำบัด

กิจกรรมที่แนะนำ : ฟังเพลง เล่นดนตรี และเต้นรำ

ประโยชน์จากดนตรีมีหลายระดับเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การฟังเพลงผลการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience ระบุว่า การฟังดนตรีมีผลให้สมองหลั่งฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) ที่ทำให้สมองทำงานได้ดี รู้สึกกระฉับกระเฉงลดความเครียดได้

สอดคล้องกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Universidad Autonoma de Nuevo Leon ร่วมกับทีมจาก Danish Pain Research Centerประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเสนอผลวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology ระบุว่า  ผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) ซึ่งฟังดนตรีให้ความรู้สึกผ่อนคลายตามที่ตนเองเลือก ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ รวมทั้งสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

เช่นเดียวกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychology of Music  โดยทีมวิจัยของโรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital สหราชอาณาจักร ระบุว่า การให้ผู้ป่วยเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาด้านการหายใจได้ฟังดนตรี ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความเจ็บปวดลงได้โดยนักวิจัยสันนิษฐานว่า การฟังดนตรีอาจช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งหลั่งออกมาจากต่อมหมวกไตเมื่อร่างกายเกิดความรู้สึกเครียดได้นั่นเอง

ถัดมาคือ การเล่นดนตรี เป็น สมาธิบำบัด อีกรูปแบบ ซึ่งต้องใช้การทำงานประสานกันระหว่างมือ สายตาและสมอง ทำให้สมองของผู้ป่วยหันมาจดจ่ออยู่ที่การควบคุมร่างกายและจิตใจให้ทำงานอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้สามารถบรรเลงดนตรีไปตามท่วงทำนองได้จนจบเพลง ซึ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบรูเนล สหราชอาณาจักร ระบุว่า ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดไปแล้ว หากได้เล่นดนตรีในช่วงพักฟื้น จะช่วยลดความเจ็บปวด จำนวนการใช้ยาแก้ปวดและจำนวนวันนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เล่นดนตรีเลย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สุดท้าย การขยับร่างกายโดยการเต้นรำไปตามเสียงดนตรี ก็ช่วยสร้างสมาธิและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Physical and Rehabilitation Medicine ระบุว่า แม้ในกรณีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันซึ่งเกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองยังมีคะแนนการรับรู้ การตอบสนองและการเคลื่อนไหวดีขึ้น โดยใช้รูปแบบการเต้นง่าย ๆ ประกอบเพลงช้า ๆ เช่น การเต้นบอลรูมในจังหวะวอลทซ์ และการเต้นโฟล์คแด๊นซ์

ขณะที่งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Arts in Psychotherapy ระบุว่า ถ้าหากเปลี่ยนการเต้นรำประกอบเพลงที่มีจังหวะเร็วและสนุกสนาน เช่น การเต้นแทงโก้ การเต้นรำแบบแอฟริกัน จะเหมาะกับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินจากการกินอาหาร ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด และวิตกกังวล ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีสติและการรับรู้ที่คมชัด ทำให้ตอบสนองต่อการรักษาหลักได้ดีขึ้น

สมาธิบำบัด, ประโยชน์นั่งสมาธิ, นั่งสมาธิ
High School Students Playing In School Orchestra Together

HOW - TO

ส่วนใหญ่ดนตรีที่ใช้ในการบำบัดจะเป็นบทเพลงบรรเลง จังหวะช้า ๆ ปราศจากเสียงร้องและเสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเครื่องดนตรีไฟฟ้า แนะนำให้ใช้บทเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่เรียบง่าย เช่น กลองใบเล็ก ๆ กระดิ่ง ขลุ่ย เป็นต้น ก็เป็นตัวช่วยในการฝึก สมาธิบำบัด ได้อีกทาง

FOR MORE INFORMATION

แหล่งข้อมูลและสถานที่ให้บริการเกี่ยวกับดนตรีบำบัดมีดังนี้

  • เอกสารเกี่ยวกับดนตรีบำบัด โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) http://resource.thaihealth.or.th/taxonomy/term/9784
  • กิจกรรมดนตรีบำบัดลดความเครียดให้ผู้ป่วยและญาติ โรงพยาบาลตากสิน ถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน กรุงเทพฯ ให้บริการทุกวันพฤหัสบดี เวลา 8.30 - 12.30 น. บริเวณหน้าอาคารอำนวยการโรงพยาบาลตากสิน หรือสอบถามได้ที่ โทร. 0-2437-0123 ต่อ 1644
  • ดนตรีบำบัดเพื่อผู้ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการร่างกายและสมอง โรงพยาบาลมนารมย์ บางนา กรุงเทพฯ โทร. 0-2725-9595 และ 0-2399-2822

อ่านเพิ่มเติม : CANCEL CANCER FESTIVAL 2019 เทศกาลดนตรี ศิลปะ และเเรงบันดาลใจ

อ่านต่อ>>ศิลปะบำบัด ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.