ระบบในร่างกาย, การดูแลสุขภาพ, วิธีดูแลสุขภาพ

[[EP1]] 4 วิธีง่ายๆ จาก 8 วิธี ดูแลทุก ระบบในร่างกาย ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

3. กินผักเพื่อให้ได้โพแทสเซียมเพียงพอ

ดอกเตอร์โจเซฟอธิบายว่า ผู้ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตวายเรื้อรัง เบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีความบกพร่องในการขจัดโพแทสเซียมออกจากร่างกาย ควรกินผักต่างๆ เป็นประจำให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมเพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง

แม้ปริมาณโพแทสเซียมที่คณะกรรมการอาหารและโภชนาการแห่ง Institute of Medicineสหรัฐอเมริกา แนะนำไว้สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 4.7 กรัมต่อวัน แต่ผลสำรวจระบุว่าคนส่วนใหญ่ยังได้รับปริมาณโพแทสเซียมต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำ ดอกเตอร์โจเซฟอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกนัยหนึ่งก็คือ คนทั่วไปมักกินผักซึ่งเป็นแหล่งโพแทสเซียมชั้นดีน้อยกว่าปริมาณตามความต้องการของร่างกายนั่นเอง

ปัจจุบันปัญหาเรื่องการบริโภคผักต่ำกว่าความต้องการของร่างกาย มักพบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มคนจนที่อาศัยในเมือง ที่มักซื้ออาหารคุณภาพต่ำซึ่งมีทั้งปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูงส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้ป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

โพแทสเซียมต่ำ – โซเดียมสูง ทำป่วยเรื้อรัง

ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายๆ ฉบับระบุตรงกันว่า ผู้ที่ได้รับโพแทสเซียมจากอาหารในปริมาณที่สูงจะมีความดันโลหิตเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังชนิดอื่นๆ ต่ำกว่าผู้ที่ได้รับโพแทสเซียมไม่เพียงพอ

ดอกเตอร์โจเซฟยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคนทั่วไปทราบดีว่าการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูงเพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง แต่ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยจำนวนมากทำให้ทราบว่า ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับโพแทสเซียมต่ำกว่าความต้องการของร่างกายแล้ว คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไป

และหากจับคู่กับพฤติกรรมการกินอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ คนกลุ่มนี้ย่อมป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มที่จะคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ยาก จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยคุมความดันในปริมาณที่มากและใช้เวลารักษานานกว่าคนทั่วไป

ระบบในร่างกาย, การดูแลสุขภาพ, วิธีดูแลสุขภาพ

กินผักหลากหลายให้โพแทสเซียมสูง

ดอกเตอร์โจเซฟอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากผักซึ่งเป็นแหล่งโพแทสเซียมให้พลังงานต่ำจึงสามารถกินในปริมาณมากได้ มีปริมาณใยอาหารสูง เป็นอาหารของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี อีกทั้งยังให้วิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าผักแล้วจะเป็นอาหารสุขภาพทันที ต้องเลือกผักที่ปลูกตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เน้นผักสดใหม่ เมื่อนำมาปรุงรสจะได้รับความหวานอร่อยตามธรรมชาติ ลดการใช้เครื่องปรุงให้น้อยที่สุด และถ้าเป็นไปได้ควรจัดสรรพื้นที่ปลูกผักไว้กินเอง

ตัวอย่างผักที่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งดอกเตอร์โจเซฟแนะนำ ได้แก่ สวิสชาร์ด อะโวคาโด ผักโขม บรอกโคลี เซเลอรี่ นอกจากนี้ยังมีในผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย ส้ม ผลอินทผลัม ลูกเกด ลูกพรุน อีกทั้งยังพบในผงโกโก้ เมล็ดทานตะวัน และเห็ดกระดุม

ขณะที่กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ระบุว่า ผักไทยๆ ที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้งจีน ขึ้นฉ่าย ฟักทอง แครอต กะหล่ำปลี มะเขือเปราะ และเห็ดฟาง ส่วนผลไม้ก็ได้แก่ มะละกอสุก ฝรั่ง แก้วมังกร กล้วยหอม น้อยหน่า และขนุน

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.