อาหารผู้ มีบุตรยาก อะไรที่ควรเพิ่ม – ควรงด
เรื่องการ มีบุตรยาก หรือ Infertility นั้น เมื่อไหร่ที่เราควรตระหนักว่าคู่ตนเองมีภาวะการมีบุตรยาก ในทางการแพทย์จะเน้นดูฝั่งผู้หญิงเป็นปัจจัยหลักถึงร้อยละ 50 ถ้าผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี เมื่อตรวจร่างกายทุกอย่างปกติ มีสามีแล้วไม่ได้คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 12 เดือน และไม่ตั้งครรภ์ จะถือว่ามีภาวะผู้มีบุตรยาก แต่ถ้าผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ผลตรวจสุขภาพเป็นปกติเช่นกัน ควรใช้เกณฑ์ระยะเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงสูงจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
หมอแบ่งกลุ่มคนที่มีบุตรยากเป็น 2 กลุ่ม
- ภาวะมีบุตรยากชนิดปฐมภูมิ (Primary Infertility) หมายถึง คู่สมรสที่ยังไม่เคยมีบุตรหรือตั้งครรภ์มาก่อน แพทย์ต้องตรวจเลือดทั้งคู่และตรวจภายในฝ่ายหญิง ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อฝ่ายชาย นี่ถือเป็นสาเหตุ ปัญหาทางร่างกาย เช่น น้ำเชื้อคุณผู้ชายไม่แข็งแรง ท่อนำไข่คุณผู้หญิงตันหนึ่งข้างหรือตันทั้งสองข้าง ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นไม่ใช่สาเหตุการมีบุตรยากที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่เป็นปัจจัยทางสรีระและอวัยวะภายในซึ่งยากต่อการแก้ไข
- ภาวะมีบุตรยากชนิดทุติยภูมิ (Secondary Infertility) หมายถึง คู่สมรสที่เคยมีบุตรหรือเคยตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกเป็นระยะเวลานาน นับตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ในกลุ่มนี้ถือเป็น ปัญหาด้านสุขภาพที่หมอจะช่วยแก้ไข
ฝ่ายผู้หญิง
โดยมาตรฐานเบื้องต้นของการวางแผนการมีบุตรสำหรับฝ่ายหญิง ควรเริ่มวัดอุณหภูมิวันที่ไข่ตก เก็บข้อมูลไว้ทุกเดือน ประมาณ 4 – 6 เดือน เพื่อคำนวณวันและเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้อยู่ในช่วงพอดี เนื่องจากไข่ของผู้หญิงมีระยะเวลาตกประมาณ 18 – 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการคำนวณระยะเวลาที่ตรงสามารถช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันยังมีเครื่องตรวจปัสสาวะที่สามารถตรวจไข่ตก โดยใช้ผลตรวจปัสสาวะเพื่อให้ผู้หญิงทราบวันและเวลาที่แน่นอนขึ้น โดยค่าจะขึ้นเป็นผลบวกก่อนไข่ตกประมาณ 24 – 36 ชั่วโมง วิธีการนี้จะช่วยให้สามีและภรรยาที่วางแผนมีบุตรนั้นได้ทำตามแผนขั้นต่อไป
ถ้าคู่สามีและภรรยาทำตามขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปหมอแนะนำฝ่ายผู้หญิงต้องตรวจสอบคุณภาพของไข่มีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด และจำนวนไข่ที่ตกต่อรอบ
สิ่งสำคัญ ร่างกายผู้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์ ต้องหลีกเลี่ยงภาวะความเครียดหากฮอร์โมนเอสโทรเจนถูกผลิตออกมามากพอจนส่งผลให้ไข่โตสมบูรณ์ พร้อมตกลงมาเตรียมการปฏิสนธิแล้ว แต่มีความเครียดในช่วงนั้น ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนจะถูกดึงไปใช้ควบคุมความเครียด ทำให้กำหนดรอบไข่ตกเลื่อนออกไปหรือตกได้น้อย ส่งผลต่อผนังมดลูกและรังไข่ไม่เกิดความชุ่มชื้นตามที่ควรจะเป็นไม่พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน
ฝ่ายชาย
ส่วนฝ่ายชายเมื่อเข้าสู่ช่วงการวางแผนมีบุตรนั้นต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดสูบบุหรี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้น้ำเชื้อมีคุณภาพแข็งแรง น้ำเชื้อของผู้ชายนั้นถ้าคุณภาพดีเยี่ยมจะสามารถอยู่ในตัวฝ่ายหญิงได้ประมาณ 4 – 5 วันตามธรรมชาติ ส่วนฝ่ายผู้หญิงในช่วงระยะเวลาไข่ใกล้ตกขนาดของปากมดลูกจะสั้นลง และมีน้ำมูกใสออกมาจากช่องคลอด เพื่อเกิดความชุ่มชื้นพร้อมปฏิสนธิ ทางการแพทย์จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร