รังไข่ มะเร็ง มะเร็งรังไข่ โรคของผู้หญิง อวัยวะเพศหญิง

รู้จัก+ป้องกันมะเร็ง รังไข่

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ มะเร็ง คือ ไม่รู้ที่มา แม้จะรู้ที่ไป มีความเชื่อว่า เหตุที่เกิดมะเร็งรังไข่ เพราะรังไข่ทำงานตลอดเวลาโดยไม่ได้หยุดพักเลย หรือรังไข่ถูกระตุ้นด้วยฮอร์โมนจึงเกิดเป็นมะเร็งรังไข่ขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial Cancer) ซึ่งพบมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

1. ปัจจัยเสี่ยงจากอายุ

ในผู้หญิงทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 50-75 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่เพียง 50 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน หากอายุน้อยกว่า 50 ปี โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มีเพียง 20 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของคนอายุมาก โดยเกินร้อยละ 50 เกิดในคนอายุมากกกว่า 63 ปี พบได้น้อยในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เกิดหลังหมดประจำเดือน

2. ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม

เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงที่สุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คนไข้มะเร็งรังไข่ร้อยละ 10-15 มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งมดลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งรังไข่ในสองช่วงอายุขึ้นไป เช่น มีแม่ หรือป้า หรือน้า หรืออา หรือลูกพี่ลูกน้องของแม่หรือพ่อเป็นมะเร็งรังไข่ ร่วมกับมีย่าหรือยาย หรือลูกพี่ลูกน้องของย่าหรือยายเป็นมะเร็งรังไข่ ในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี อากสที่คุณจะเป็นมะเร็งรังไข่ตอนอายุ 35 ปี มีร้อยละ 5 หรือตลอดชีวิตนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มากถึงร้อยละ 25-50

ผู้หญิงที่มียีนกลายพันธุ์ ชนิดบีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) บีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) นอกจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ด้วย

 

รังไข่ มะเร็ง มะเร็งรังไข่ โรคของผู้หญิง อวัยวะเพศหญิง

 

3. ปัจจัยเสี่ยงจากฮอร์โมน

ไม่แต่งงานหรือไม่มีลูก หากมีลูกมาก แสดงว่ารังไข่ได้หยุดทำงานอย่างน้อยท้องละ 9 เดือน โอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่จะลดน้อยลง

ประจำเดือนมาเร็วและหมดช้า แสดงว่ารังไข่ทำงานต่อเนื่องยาวนาน มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น ไม่ให้ลูกกินนมแม่ เพราะการให้นมลูกทำให้รังไข่ได้หยุดทำงาน โอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่จะลดน้อยลง

ไม่กินยาคุมกำเนิด เพราะการกินยาคุมกำเนิดทำให้รังไข่หยุดทำงาน โอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่จึงลดน้อยลง และการกินยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี ลดโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 50

การรับยากระตุ้นการสร้างฮอร์โมนจากการมีลูกยาก เพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ ซึ่งในข้อนี้บางงานวิจัยพบว่า ยาอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่การมีลูกยากอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งรังไข่

รับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนการหมดประจำเดือนนานเกินไป 5-10 ปี เพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ แต่หากรับทั้งฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจนเทอโรน ยังไม่แน่ว่าจะเพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่หรือไม่

กินยาเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศชาย เช่น ดานาซอล (Danazon) ซึ่งใช้รักษาโรคถุงน้ำที่เต้า ปวดประจำเดือน โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

4. ปัจจัยเสี่ยงจากการทำหมันและตัดมดลูก

ไม่ทำหมันและไม่ได้ตัดมดลูก การทำหมันและตัดมดลูกช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ อธิบายได้ว่า เพราะสารก่อมะเร็งจะไม่สามารถเดินทางผ่านช่องคลอด ปากมดลูก โพรงมดลูก หรือท่อนำไข่มาถึงรังไข่ได้

5. ปัจจัยเสี่ยงจากวิถีชีวิต

อ้วน นอกจากความอ้วนจะเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่เพิ่มร้อยละ 50 แล้ว คนอ้วนยังมีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่าคนน้ำหนักปกติอีกด้วย

อาหารไขมันสูง เชื่อว่าการกินอาหารไขมันต่ำ อาหารที่มีผักสดและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ที่ (ประมาณ 420 กรัม) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะร็งรังไข่

สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดผลิตมูก (Mucinous)

การโรยแป้งกันการอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศหรือขาหนีบ หากแป้งเหล่านี้มีส่วนผสมของสารทาลกัม (Talcum) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่

ความเครียด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่

 

 

 

 

<< เช็คอาการผิดปกติที่บ่งบอกว่าอาจจะเป็นมะเร็งรังไข่ อ่านหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.