ชนิดของมะเร็งรังไข่
มะเร็งรังไข่แบ่งตามแหล่งที่เกิดมะเร็งได้ดังนี้
1. มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Ovarian Epithelial Carcinoma)
เกิดจากเยื่อบุผิวรังไข่ เป็นมะเร็งรังไข่ที่พบมากที่สุด คือ ร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด พบในคนอายุมาก ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 56-60 ปี มีหลายชนิด เช่น ซีรัส ซีสตาดีโนคาร์ซีโนมา (Serous Cystadenocarcinoma) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เอ็นโดเมทริออยด์ (Endometrioid Tumor) และมิวซินัส ซีสตาดีโนคาร์ซีโนมา (Mucinous Cystadenocarcinoma)
พยากรณ์ของโรคไม่ดี เนื่องจากเป็นมะเร็งที่มักเป็นที่รังไข่ทั้งสองข้างร้อยละ 75 มักมาพบแพทย์เมื่อเป็นระยะที่ 3 ขึ้นไป โอกาสมีชีวิตอยู่รอดภายใน 5 ปี มีเพียงร้อยละ 20
2. มะเร็งฟองไข่ (Germ Cell Tumor)
เกิดจากฟองไข่พบร้อยละ 5 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด มีหลายชนิด เช่น ดิสเจอร์มิโนมา (Dysgerminoma) อิมเมเชอร์ เทอราโทมา (Immature Teratoma) สองชนิดนี้เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เอ็นโอเดอร์มอล ไซนัส (Endodermal Sinus Tumor) โครีโอคาร์ซีโนมา (Choriocarcinoma) มักพบในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี
พยากรณ์ของโรคดีกว่ามะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ เพราะมักเป็นที่รังไข่ข้างเดียว และไปพบแพทย์เร็วด้วย เพราะธรรมชาติของมะเร็งชนิดนี้โตเร็ว ทำให้เกิดอาการแน่นขณะที่อยู่ในระยะแรก
มะเร็งชนิดนี้สนองตอบต่อการรักษาค่อนข้างดี เช่น ผ่าตัด รังสีรักษาและเคมีบำบัด โอกาสมีชีวิตอยู่รอดภายใน 5 ปี มีเพียงร้อยละ 60-85
3. มะเร็งเนื้อเยื่อรังไข่ (Sex Cord-Stromal Tumor)
เกิดจากเนื้อเยื่อรังไข่ พบร้อยละ 8 ของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด มะเร็งชนิดนี้มักสร้างฮอร์โมนที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ กรานูโลซาเซลล์ (Granulosa Cell Tumor) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ เซอร์โตไล-เลย์ดิก เซลล์ (Sertoli Leydig Cell Tumor) หรืออาร์รีโนบลาสโตมา (Arrhenoblastoma)
พยากรณ์ของโรคดีกว่ามะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ เพราะมักเป็นที่รังไข่ข้างเดียวและไม่ก้าวร้าว คือไม่กระจายไปที่ไหน เมื่อได้รับการรักษาแล้วโรคไม่กลับคืน และมักเจอในระยะต้น
การรักษานิยมใช้เฉพาะการผ่าตัด และไม่ต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายแสง มะเร็งชนิดนี้เรียกว่า มะเร็งโตช้า ต้องระวังว่าจะเกิดซ้ำเมื่อเวลาผ่านไป 15-20 ปี โดยทั่วไปสนองตอบต่อการาผ่าตัดรักษาค่อนข้างดี โอกาสมีชีวิตอยู่รอดภายใน 5 ปี มีร้อยละ 70-90
4. มะเร็งจากหลายแหล่ง เป็นมะเร็งรังไข่ที่อาจจะเกิดจากเยื่อบุผิวรังไข่ร่วมกับฟองไข่ หรือร่วมกับเนื้อเยื่อรังไข่ (Mixed Tumors)
5. มะเร็งรังไข่อื่นๆ เช่น มะเร็งที่เกิดจากกล้ามเนื้อรังไข่ (Sarcoma) พบได้น้อยมาก เป็นมะเร็งที่ไม่สนองตอบต่อการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด แทบไม่มีคนไข้รายใดมีชีวิตอยู่รอดภายใน 1 ปี
6. มะเร็งรังไข่ที่เป็นจากมะเร็งที่กระจายมาจากแหล่งอื่น เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เรียกรวมกันว่าเนื้องอกครุกเคนเบิร์ก (Krukenberg Tumor) เป็นมะเร็งที่ไม่สนองตอบต่อการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด โอกาสมีชีวิตอยู่รอดภายใน 2 ปี เท่ากับศูนย์เปอร์เซ็นต์