อาการโรคไต สังเกตได้ รู้ตัวทัน
อาการโรคไต ในช่วงแรกอาจยากที่จะสังเกต เนื่องจากเป็นโรคที่แทบจะไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย แต่ถ้าเราหมั่นสังเกตความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองก็พอจะไหวตัวทันได้อยู่นะคะ ดังนั้นการสำรวจ สังเกตตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ
โรคไต เป็นคำกว้างๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีความผิดปกติที่บริเวณไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุของโรคไต ได้แก่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ โรคไตอักเสบ นิ่วที่ไต โรคเนื้องอกที่ไต เป็นต้น และยังมีโรคประจำตัวที่สามารถทำให้เกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยโรคที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด
เราต่างรู้ดีว่า “ไต” เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นการดูแลไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่ไตจะได้คงสภาพการทำงานต่อไปได้ หากไตมีปัญหาจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการตัวบวม และในที่สุดจะทำให้เกิดไตวาย หรือภาวะไตล้มเหลวได้
อาการโรคไต ระยะเริ่มต้น
ความน่ากลัวของโรคไตคือ ในช่วงแรกแทบจะไม่มีอาการใดๆ ให้เห็นเลย และยิ่งถ้าเป็นคนไม่ตรวจสุขภาพ ไม่สังเกตตัวเอง ปล่อยไปเรื่อยๆ แล้วมีอาการให้รู้ทีหลัง นั้นแปลว่าไตเสื่อมระยะสุดท้าย จนเกิดของเสียคั่งอยู่ในกระแสเลือด และต้องทำการฟอกไตแล้ว
สำหรับอาการที่เกิดขึ้น ที่พอจะทำให้สังเกตได้คือ
- เบื่ออาหาร
- ปัสสาวะบ่อย มีเลือด หรือมีฟองปนออกมา
- เป็นตะคริวบ่อยขึ้น
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- ง่วงนอนกลางวันบ่อย
- ตัวซีดเหลือง มีจ้ำเลือด
- ปวดเอว ปวดหลัง
- ตัว มือ เท้า บวม
ในบางรายอาจคลำพบก้อนเนื้อด้านหลัง บริเวณบั้นเอว ช่วงใต้กระดูกชายโครง ซึ่งเป็นที่อยู่ของไต และรู้สึกขมปาก ขมคอ ไม่รู้รสอาหาร จนรู้สึกเบื่ออาหาร และคลื่นไส้ได้
อาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง
- อาการบวมในร่างกาย อาการบวมนั้น เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต คือ เกิดจากไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือได้อย่างปกติ จนเกิดการคั่งของน้ำและเกลือ จนเกิดอาการบวมหรืออาจเกิดจากโปรตีนไข่ขาวรั่วออกไปทางปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวม เช่น โรคไตชนิดเนฟโฟรติก ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
- อาการคันตามตัว /คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร /ภาวะโลหิตจาง
- อาการเหล่านี้นั้นไม่จำเพาะต่อโรคไต เป็นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคไต แต่ในโรคไตเรื้อรังนั้น จะทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ โดยอย่างไรก็ตามถ้ามีอาการเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต มักเกิดในโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต
อาการโรคไต อื่นๆ
- ปวดเอว อาการปวดนั้นอาจจะพบที่บริเวณเอวเกิดจากรอยโรคที่บริเวณไต ซึ่งอยู่บริเวณหลังเอวทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุมักเกิดจาก นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากโรคถุงน้ำที่ไต หรือเนื้องอกของไตได้
- ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติหรือความดันโลหิตสูงที่คุมได้ยากโดยจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการควบคุม สาเหตุอาจเกิดจากโรคไตโดยโรคไตที่นึกถึงคือ ภาวะเส้นเลือดแดงของไตตีบ โรคไตอักเสบหรือโรคไตเรื้อรัง
ไม่ใช่แค่กินเค็ม ก็เสี่ยงนะ
สำหรับคนที่มีความเสี่ยง และครวตรวจตัวเองสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่คนที่ชอบกินเค็มเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มเลยค่ะ คือ
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มเกิดความเสื่อม
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต และโรคเบาหวาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
เลือกกิน ป้องกันไตเสื่อม
อาหารการกิน เป็นเรื่องสำคัญมากในการดูแลไต ไม่ให้ไตเสื่อม เพราะหากเรารู้จักเลือกอาหาร ไตก็จะไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดภาวะไตเสื่อม
1) เนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงโดยเฉพาะเนื้อแดงทั้งหลาย เพราะหากทานมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียได้ โดยจะทำให้ไตทำงานหนักจนเสื่อมได้เร็งขึ้น นำไปสู่การคั่งของของเสีย และควรเลือกทานโปรตีนจากสัตว์ทะเล หรือธัญพืช เช่นถั่วเหลือง เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
2) ข้าวและแป้ง แนะนำให้เลือกเป็นแบบไม่ขัดสี ที่ยังคงอุดมด้วยคุณค่าของสารอาหารที่จำเป็น โดยอาหารในกลุ่มดังกล่าวจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ง่าย โดยแป้งที่ผู้ป่วยโรคไตทานได้อย่างปลอดภัย เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว สาคู เพื่อยืดอายุ และลดความเสื่อมของไตได้
3) ไขมัน ควรเลือกเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งพบได้ในเนื้อปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด้ น้ำมันมะกอก เป็นต้น ส่วนไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ไขมันอิ่มตัว ที่พบได้ในไขมันสัตว์ เช่น หมูสามชั้น เป็นต้น
4) ผักและผลไม้ เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงมาก เนื่องจากอุดมด้วยแร่ธาตุสำคัญต่างๆ มากมาย แต่ในผู้ที่มีปัญหาไตเสื่อม ซึ่งร่างกายสุญเสียการรักษาสมดุลเกลือแร่ ทำให้การเลือกทานผักผลไม้เป็นเรื่องสำคัญ โดยการเลือกทานควรขึ้นอยู่กับปริมาณแร่ธาตุในร่างกาย คือ โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และโซเดียม
5) เกลือ หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
6) น้ำ ผู้ที่ไตขับปัสสาวะได้ลดลงมีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มเพื่อป้องกันภาวะบวมน้ำเเละน้ำท่วมปอด ปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันจะนับรวมถึงอาหารทุกชนิดที่เป็นของเหลวเเละเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ซุป น้ำผลไม้ น้ำผัก เป็นต้น
และไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรคไตและป้องกันโรคไตด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ตรวจคัดกรองไตอย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์ตามนัดหมายและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยโรคไต ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อที่แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค ควบคุมรักษาที่สาเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น แนะนำต้องรีบเข้ารับการการวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
ข้อมูลประกอบจาก: โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลไทยนครินทร์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ .