วิธีสยบ 7 อาการผิดปกติและ โรคผู้หญิง ที่พบบ่อยในสาวๆ
เป็นผู้หญิง มีข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านสุขภาพมากมาย ไหนจะอาการต่างๆ ที่มาพร้อมกับเพศหญิง โรคผู้หญิง และอื่นๆ ที่กวนใจสาวๆ จนบางรายถึงกับจิตตกกันเลยก็มา วันนี้เรารวบรวมเอาอาการผิดปกติและโรคที่พบบ่อยในผู้หญิง 7 อย่างมาพร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือค่ะ
1. เครียด
ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมทั้งสาวโสด สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychology Association) รายงานว่า
ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีความเครียดมากกว่าสาวโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบว่าสาวโสดมีความเครียดเช่นกัน โดยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากงาน เพราะเจ้านายเห็นว่าไม่มีภาระเหมือนคนอื่น จึงมอบงานซึ่งต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่า จากครอบครัว เช่น ต้องดูแลพ่อแม่เพียงลำพัง จากปัญหาการเงิน หรือจากความรู้สึกตัวเอง เช่น ความคาดหวังในการมีคู่ครอง ความกลัวว่าจะไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนหรือเลี้ยงดูยามแก่เฒ่า
แก้อย่างไร
ความเครียดเหล่านี้บางสาเหตุแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมองความคิด เช่น มองข้อดีของการเป็นคนโสดจะพบว่ามีหลายข้อมาก อย่าปักอกปักใจเชื่อว่าความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีคู่เท่านั้น
นอกจากนี้ ดร.ครองขวัญ ไชยธรรมสถิต แนะนำไว้ในหนังสือ วิธีกำราบปราบความเครียดว่า ให้ทำสมาธิ ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ เต้นรำ นวด เขียนบันทึก วาดภาพ เดินเล่น หรือนอนหลับเสียเลยเพื่อคลายความเครียด
2. ซึมเศร้า
สาวโสดมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเหงา ว้าเหว่เพราะไร้คู่ ความเครียดและกดดันจากการงาน การเงิน สังคม รวมถึงความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองและพันธุกรรม
ถ้าสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว ขาดความมั่นใจ ไม่สนใจเรื่องรอบตัว ขาดสมาธิ อ่อนเพลียตลอดเวลา ทำอะไรชักช้า กินจุหรือกินน้อยลง นอนไม่อิ่มหรือนอนน้อยลง โทษตัวเองบ่อย
แก้อย่างไร
เราสามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วยการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่รู้สึกดีมีความสุข เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิดด้านลบให้เปลี่ยนวิธีคิดและทำอย่างอื่นเสีย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น และจำไว้ว่า ถ้ารู้สึกเศร้าเมื่อใด ให้รีบสนใจเรื่องดีๆ หรือหาเรื่องสนุกทำทันที
นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูล แนะนำไว้ในหนังสือโรคซึมเศร้าว่า ให้รู้จักหาสาเหตุของปัญหาและแก้ปัญหานั้น พักผ่อน ท่องเที่ยว คุยกับตัวเอง และมองโลกในแง่บวก
3. ไมเกรน
ไมเกรนนั้นเป็นอาการปวดศีรษะที่ทุกข์ทรมานมาก ยังไม่มีใครทราบสาเหตุก่อโรคแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่า เกิดจากความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารเคมีชนิดอื่นๆ ในสมอง นอกจากนี้ยังมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ ความเครียด แสงสว่างจ้า แสงไฟกะพริบ การเพ่งมองอะไรนานๆ อยู่ในที่ที่มีเสียงดัง อยู่ในบริเวณที่มีความร้อนหรือเย็นเกินไป อดนอน อดอาหาร ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว กล้วย ช็อกโกแลต นม เนย และช่วงใกล้มีประจำเดือน
แก้อย่างไร
รองศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง ดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์แนะนำไว้ในหนังสือแก้ปวดก่อนป่วยว่า ให้สังเกตตัวเองว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แล้วพยายามหลีกเลี่ยงเสีย
สำหรับวิธีป้องกันอาการปวดไมเกรนได้ดีคือ การออกกำลังกายแบบเบาๆเป็นประจำ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน