ฉี่โรคไต

ฉี่แบบนี้ สัญญาณ โรคไต

ชวนสังเกต ฉี่โรคไต ตัวบอกสัญญาณร้าย

อย่าหาว่าสกปรกหรืออะไรเลยนะคะ ถ้าแอดจะชวนทุกคนมาสังเกตฉี่ของตัวเอง เพราะเจ้าของเสียที่เราขับออกมานั้น สามารถเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะโรคไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการขับของเสีย และสารพิษออกจากร่างกาย ฉี่โรคไต ที่เกิดจากไตบกพร่องจึงมีลักษณะแบบนี้!

ฉี่เป็นเลือด

ปกติแล้วปัสสาวะของคนเราจะมีสีเหลืองใส อาจสีเข้มขึ้นเล็กน้อยถ้าดื่มน้ำน้อย แต่หากเป็น ฉี่โรคไต จะสีออกแดง หรือเป็นสีแบบน้ำล้างเนื้อเมื่อไหร่ แสดงว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินปัสสาวะ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น นิ่ว เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือเส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ

ฉี่เป็นเลือด ฉี่โรคไต
ฉี่โรคไตที่เกิดจากการทำงานที่บกพร่องของไต มีลักษณะให้สังเกตได้ไม่ยากค่ะ และหากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์

ฉี่บ่อย

แต่ละคนจะมีความถี่ของการปัสสาวะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการฝึก นิสัยส่วนตัว ปริมาณน้ำที่ดื่มและน้ำที่เสียไปทางเหงื่อกับอุจจาระ วิธีสังเกตว่าปัสสาวะบ่อยผิดปกติคือการตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน คนปกติจะไม่ตื่นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่าคืนละ 1 ครั้ง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะแรกอาจปัสสาวะบ่อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการปัสสาวะบ่อยมักจะไม่ได้เกิดจากโรคไต แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เบาหวาน เบาจืด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือการกินน้ำมากเกินไป ดังนั้นถ้าปัสสาวะบ่อยมากกว่าวันละ 3 ลิตร หรือตื่นมา ปัสสาวะตอนกลางคืนหลายครั้ง ควรรีบมาพบแพทย์

ฉี่น้อยลง

ตามปกติเมื่อเราดื่มน้ำมากปัสสาวะจะมากขึ้น เมื่อดื่มน้ำน้อยปัสสาวะก็จะน้อยลง แต่ถ้าดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะไม่มากหรือปัสสาวะไม่ออกเลย มักเกิดจากการทำงานของไตเสียไป หรือมีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อปัสสาวะน้อยลงให้ลองรับประทานน้ำเพิ่มขึ้น และสังเกตว่ามีปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ ถ้าปัสสาวะยังออกน้อยควรรีบมาปรึกษาแพทย์ทันที

ฉี่ลำบาก

โดยทั่วไปเวลาปัสสาวะไม่ควรมีอาการขัดแสบหรือปัสสาวะลำบาก ถ้ามีอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการตีบตันของริเวณกระเพาะปัสสาวะส่วนล่างหรือการตีบของท่อปัสสาวะ เช่น นิ่ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบหรือตีบตัน และต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย หากมีอาการปัสสาวะลำบากควรรีบมาปรึกษาแพทย์

ฉี่ยาก ฉี่โรคไต

ฉี่เล็ดราด

ตามธรรมชาติร่างกายจะควบคุมให้เรากลั้นปัสสาวะไว้ได้ โดยส่วนของกระเพาะปัสสาวะที่ต่อกับท่อปัสสาวะจะมีหูรูดบีบไว้ไม่ให้ปัสสาวะเล็ดราด เมื่อมีปริมาณของปัสสาวะมากขึ้นเต็มกระเพาะปัสสาวะแล้ว กระเพาะปัสสาวะก็จะบีบตัวพร้อมกับหูรูดจะขยายออก ทำให้ขับปัสสาวะออกมา หากมีความผิดปกติทำให้หูรูดไม่ทำงาน ก็จะไม่สามารถก็บปัสสาวะไว้ได้

อาการปัสสาวะเล็ดราดพบได้บ่อยในผู้หญิงที่คลอดลูกหลายคน ทำให้เกิดการหย่อนยานของมดลูก หรือที่เรียกว่ากะบังลมหย่อน นอกจากนั้นอาจเกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะหรือเนื้องอกของอวัยวะต่างๆที่อยู่ใกล้กับหูรูด

สัญญาณเตือน ไตวายเรื้อรัง

  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน พบได้เมื่อการทำงานของไตเริ่มเสื่อมลงในระยะแรก
  • ขาบวม เมื่อกดไปเป็นรอยบุ๋ม เกิดจากมีเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย หรือมีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะมาก หากบวมมากจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจากการมีน้ำคั่งในปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร คันตามร่างกาย อ่อนเพลีย
  • ประจำเดือนไม่ปกติ หรือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เพศชายจะมีความรู้สึกทงเพศและการสร้างอสุจิลดลง

อะไรบ้างที่ต้องเลี่ยง เมื่ออาจเป็นโรคไต

เมื่อมีภาวะไตทำงานผิดปกติ นอกจากอาหารรสชาติเค็มแล้ว ก็ยังมีแร่ธาตุบางชนิดนอกจากโซเดียม ที่ควรเลี่ยง หรือลดปริมาณลง ไม่ว่าจะเป็น

โพแทสเซียม

เมื่อร่างกายไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ และมีสะสมเป็นจำนวนมากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจหยุดเต้นจนเสียชีวิตได้ โดยผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงคือ เห็ดฟาง มะเขือเทศ คะน้า บรอกโคลี มะละกอสุก เป็นต้น

ฟอสฟอรัส

แร่ธาตุที่ทำงานร่วมกับแคลเซียม และเมื่อสะสมในเลือดสูง ร่างกายจะนำแคลเซียมในกระดูกมาจับฟอสฟอรัส ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน และอาจทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอุดตันได้ ผักและผลไม้ที่อุดมด้วยฟอสฟอรัสคือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่แดง ถั่ว ช็อคโกแลต และเบียร์ เป็นต้น

ฟอสฟอรัส

เมื่อเกิดภาวะไตเสื่อม จะทำให้เกิดของเสียที่มาจากโปรตีนสะสมตามอวัยวะต่างๆ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตงดอาหารโปรตีนสูง ได้แก่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าแร่ธาตุเหล่านี้มีอยู่ในผักผลไม้รอบๆ ตัวทั้งนั้นเลย ทำให้ผู้ป่วยโรคไตอาจจะต้องเลือกทานอาหารอย่างระมัดระวังนะคะ และหากมีอาการบวมน้ำก็ควรจำกัดปริมาณในการดื่มน้ำต่อวันประมาณ 3-4 แก้ว

พฤติกรรมลดเสี่ยงโรคไต

  • เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารแปรรูป เลือกทานผักและผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่นปลา ถั่ว จำกัดปริมาณอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารแปรรูป รวมทั้ง รับประทานเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา และน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา 
  • งดสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่อุดมด้วยสารพิษ ที่เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จะส่งผลต่อหัวใจและไต คนสูบบุหรี่จึงมีแนวโน้มจะมีภาวะไตวายมากกว่าคนปกติที่ไม่ได้สูบถึง 3 เท่าเลยทีเดียว 
  • ดื่มน้ำเปล่า การดื่มน้ำในปริมาณ 6 – 8 แก้วต่อวัน จะช่วยให้ไตทำงานได้ง่ายขึ้น และระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างราบรื่น ช่วยกรองสารพิษออกจากเลือดและขับสารพิษทางปัสสาวะ 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เพียงช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้แล้ว ยังกระตุ้นให้ร่างกายกำจัดของเสียที่สะสสมในเลือดออกมา รวมถึงช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ 
  • หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะยาที่ต้องทานหลังอาหารทันที เพราะมักมีพิษต่อไต และการทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็ทำใหไตเสื่อมได้ไวขึ้น 

ที่มา นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ปัสสาวะบ่อย สัญญาณบอกโรค

อาหารของโรคไต ป้องกันภาวะไตเสื่อม

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.