ความฝัน

“ฝันดี – ฝันร้าย” ความฝัน เกี่ยวข้องอย่างไรกับสุขภาพ

อ่านชื่อเรื่องแล้วชวนให้สงสัยนะคะว่า ความฝัน เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้อย่างไร

วันนี้ ชีวจิตจึงชวนคุณมามอง(อ่าน) อย่างวิเคราะห์ว่า ความฝัน นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร …รับรองว่าได้คำตอบที่น่าสนใจ และคาดไม่ถึงอย่างแน่นนอน

เมื่อสมองขอร้องให้ฝัน

อันดับแรกเราควรมารู้จักที่มาของความฝัน โดย นายแพทย์ศุภโชค สิงหกันต์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุณาอธิบายให้ฟังค่ะ

“ตลอดทั้งวันเราได้รับข้อมูลมากมาย การเข้ามาของข้อมูลเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง และสมองไม่สามารถจดจำได้หมด สมองจึงคัดกรองเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น และสิ่งที่เหลือจะตกผลึกเป็นความทรงจำที่สามารถนึกออกได้ภายหลัง

“นอกจากนี้มีสมมุติฐานว่า ความฝันเป็นความพยายามของสมองที่จะกลั่นกรองความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ มาจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ ซึ่งกระบวนการเกิดความฝันต้องอาศัยการทำงานที่ซับซ้อนของสมองหลายขึ้น ทั้งการประมวลผลของระบบสารสื่อประสาทด้านชีวเคมีและฮอร์โมนในร่างกาย

“ช่วงแรกๆ ของการนอน สมองจะทำหน้าที่เรียบเรียงข้อมูลและความทรงจำที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แต่ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของการนอนจะเป็นการเรียบเรียงความทรงจำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงสังเกตได้ว่า ความฝันในช่วงแรกๆ ของการนอนจะสับสน ไม่เป็นเรื่องราว แต่ช่วงท้ายๆ จะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันตลอดครับ”

โดยรวม คุณหมอศุภโชคสรุปว่า “ทุกคนที่นอนหลับต่างมีความฝันเกิดขึ้นด้วยกัน ทุกคน เพียงแต่ว่าจำได้หรือไม่เท่านั้น” และยืนยันว่า ความฝันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์มากทีเดียว โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า ช่วงที่เราหลับลุกเป็นช่วงที่ร่างกายได้รับการพักผ่อน แต่ช่วงที่กำลังฝันนั้นร่างกายก็ได้รับการฟื้นฟูจากการหลับด้วย

ขณะที่มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความฝัน จากหนังสือ อัศจรรย์จิตมนุษย์ ของรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ที่อธิบายไว้น่าสนใจมากว่า ขณะหลับในระยะกลอกตา (REM)หรือระยะที่มีความฝัน ผู้หลับจะหยุดกรน หายใจช้าลง เลือดไหลเวียนไปสู่สมองมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น กล้ามเนื้อที่ใบหน้าและปลายนิ้วอาจกระตุกบ้าง แต่แขน ขา และลำตัว ซึ่งสามารถเคลื่อนไหวในช่วงหลับแบบไม่กลอกตาเร็วกลับหยุดนิ่ง สาเหตุนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะกลไกอัตโนมัติในร่างกายป้องกันไม่ให้เราทำอันตรายต่อตนเองผู้อื่นขณะที่เรากกำลังตื่นเต้นไปกับความฝันนั่นเอง

ความฝัน ในมุมมอง “นักจิตวิทยา”

คุณหมอศุภโชคท่านเดิมอธิบายสิ่งที่เราเห็นในฝันไว้อย่างน่าสนใจว่า…

“มีข้อสังเกตว่า เนื้อหาในความฝันจะเกี่ยวพันกับประสบการร์การเรียนรู้ค่อนข้างมาก ทั้งเกี่ยวข้องกับค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมในสังคมของบุคคลนั้น เช่น มีการศึกษาความฝันในเด็กพบว่า ความฝันจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละวัยด้วย

“ส่วนมากเด็กจะฝันถึงการเล่นตุ๊กตา เล่นเกม แต่เขาจะไม่ฝันถึงเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือเรื่องยากๆ แต่ความฝันจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น

“จึงพอสรุปได้ว่า เนื้อหาของความฝันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนคนนั้นเป็นหลัก เพียงแต่เขาจะจับส่วนไหน หรือช่วงไหนของชีวิตมาฝันนั่นเอง”

ฝันดี – ฝันร้าย ใครกำหนด

คุณหมอศุภโชคชี้ว่า ฝันจะดีหรือร้ายนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์เป็นหลัก ช่วงไหนอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความฝันมักออกมาดี ขณะที่หากจิตใจเศร้าหมอง โกรธ หมกมุ่น ฝันก็มักจะไม่ดีนัก

ข้อมูลจากหนังสืออัศจรรย์จิตมนุษย์อธิบายไว้น่าสนใจเช่นกัน โดยเรียกฝันร้ายในทางจิตวิทยาว่า “อาการกระวนกระวายในความฝัน” (Dream Anxiety Attack)และมักเกิดขึ้นในช่วงกลางๆ หรือท้ายๆ ของการนอนหลับมากกว่าในช่วงต้น

ฝันร้ายมักเกี่ยวพันกับความเครียดภายในใจ ความปั่นป่วนทางอารมณ์จากประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น อุบัติเหตุรถยนต์หรือการสู้รบ มักฝังใจและผุดขึ้นมาในรูปฝันร้าย ความเจ็บป่วยทางกายก็อาจเป็นสาเหตุให้ฝันร้ายเช่นกัน แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากความเจ็บป่วยหรือเดจากความเครียดที่เกิดตามมากันแน่

สุราและยาเสพติด รวมถึงยาที่แพทย์สั่งบางชนิดก็อาจจะมีผลต่อการฝันร้ายด้วย ดังนั้นหากกินยาใดแล้วเริ่มมีอาการฝันร้ายควรแจ้งแทพย์หรือเภสัชกรให้ทราบด้วย

ในบางกรณี ฝันร้ายที่รุนแรงและเกิดซ้ำๆ ก็อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติทางจิตประสาท และความพบจิตแพทย์เพื่อการบำบัดด้วย

แต่คุณหมอศุภโชคเสริมว่า “ฝันร้ายจะมีผลต่ออารมณ์คนมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเชื่อและบุคลิกภาพด้วย ใครมีแนวโน้มอ่อนไหว ตึงเครียดง่าย จะเป็นทุกข์กับความฝันมาก และมีผลกับร่างกายตามมา

“สิ่งที่ควรคำนึงคือ ความฝันคือความฝัน เปรียบเหมือนการดูหนังหนึ่งเรื่อง จบแล้วก็คือจบเรื่องไป แม้จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจ ตื่นเต้น หรือเศร้าหมอง แต่เมื่อจบแล้วก็ควรกลับมาใช้ชีวิตปกติ ไม่ควรให้ความฝันนั้นมีผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายในระยะต่อมาครับ”

เราตี ความฝัน ได้แค่ไหน

คนเราสนใจใคร่รู้ความหมายของความฝันกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอียิปโบราณ นักบวชตีความสัญลักษณ์ในความฝันไว้กว่า 200 อย่าง ขณะที่ในทางจิตวิทยาเองเคยกล่าวถึงการวิเคราะห์ความฝันว่าเป็นตัวแทนของความขัดแย้ง หรือสิ่งที่เราไม่สามารถแสดงออกไปได้ในชีวิตประจำวัน และถูกเก็บกักไว้

แต่ในปัจจุบัน การศึกษาในทางจิตวิทยาพบว่า ความฝันนั้นเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำมากกว่า เพียงแต่เนื้อหาอาจบิดเบือน แตกต่างไป เราจึงไม่ค่อยตีความกัน

…แต่อย่างนั้นก็ใช่ว่าไม่มีใครได้ลองตีความไว้นะคะ

อย่างเนื้อหาในหนังสือ “ความฝัน : มหัศจรรย์แห่งการนอน”ที่เขียนโดย ซิลเวีย บราวน์ กับ ลินด์เซย์ แฮร์ริสัน จากสำนักพิมพ์ โพเอม่า นำเสนอว่า

“ความฝันที่คุณเห็นคือเรื่องราวเฉพาะบุคคล ดังนั้นการแปรความฝันจึงป็นศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่จะเอาแต่ชี้ถูกผิดอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ความหมายใดจะสอดคล้องกับความเป็ฯจริงในชีวิตคุณนั่นเอง”

อาทิ…

“ฝันเห็นบ้าน” หมายถึง ความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพ ตำแหน่งของร่างกายที่มีปัญหามักเกี่ยวกับตำแหน่งในบ้านที่ฝันถึง เช่น หลังคา อาจหมายถึงโรคปวดศีรษะไปจนถึงโรคไซนัส

“ฝันว่าโป๊เปลือย” มักบ่งชี้ถึงความกลัวในการเปิดเผยบางอย่าง อาจเป็นนัยถึงความไม่พร้อม ความอ่อนแอร์ในจิตใจ ด้วยรู้สึกว่าไม่มีกลไกใดมาปกป้องตัวเองได้

“ฝันถึงการมีเซ็กซ์” บอกถึงความต้องการการใกล้ชิดทางอารมณ์ ต้องการการดูแลและให้ความเชื่อมั่นจากผู้อื่น หรือหมายถึงความไมม่สบายใจที่ต้องสะกดกลั้นอารมณ์ไว้

“ฝันว่าตั้งครรภ์” หมายถึงแนวทางใหม่ๆ ในชีวิตที่คุณมองว่ากำลังเกิดขึ้นแล้ว หรือไม่ก็เป็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณและกำลังจะปรากฎออกมา

“ฝันถึงความตาย” มักเป็นสัญญาณของทัศนคติ หรือความเชื่อเก่าๆ นิสัยเดิมๆ ที่เคยเป็นมา

…ส่วนการฝันว่า “งูรัด” ในแบบไทย ในเชิงวัฒนธรรมมักคิดถึงการเจอเนื้อคู่ หากแต่ในเชิงพุทธศาสนา มองว่าความรักหลงนั้นคือกิเลส การฝันเป็ฯงูจึงหมายถึงการถูกกิเลสครอบงำ หรืออาจต้องเจ็บป่วย ก็เป็นได้

ก่อนจากกัน คุณหมอศุภโชคแนะนำวิธีรับมือกับความฝันไว้ดังนี้

  1. ไม่ควรรับอารมณ์ต่างๆ มากระทบใจในช่วงเวลา 00 – 20.00 น. เพราะจะส่งผลต่อความฝันได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นๆ
  2. ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน การสวดมนต์ก็ช่วยได้
  3. หากฝันร้ายจนตื่นขึ้น อย่าเพิ่งตกใจ เพราะอาจเกิดจากความไม่สบายของร่างกาย จากท่านอน หรือจากสิ่งที่ดื่มกินก่อนนอน เช่น ท้องอื่นเพราะน้ำอัดลม เบียร์ หรือเหล้า ควรหายาลดลมในกระเพาะ หรือดื่มน้ำขิงอุ่นๆ สักแก้ว ก็จะช่วยลดอาการไม่สบายตัวได้

ดังนั้น คืนนี้ไม่ว่าหลับไปแล้วฝันอย่างไร ดีหรือร้าย ขอให้คุณกำหนดชีวิตในวันรุ่งขึ้นด้วยสติ และความตั้งใจดี นะคะ

…แล้วทุกอย่างจะย่อมดีแน่

บทความอื่นที่น่าสนใจ

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

แกงไทย กับการช่วยป้องกันมะเร็ง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.