ยาสามัญประจำบ้าน ที่ทุกบ้านควรมี

 

อาการเจ็บป่วยไม่ร้ายแรง เช่น เป็นหวัด เป็นไข้ ท้องเสีย ปวดหัว ท้องผูก ฯลฯ รวมถึงการประสบอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่นมีดบาด ฟกช้ำดำเขียว เกิดขึ้นได้เสมอ อาการเหล่านี้มียาสามัญประจำบ้านที่สามารถใช้เพื่อรักษาในเบื้องต้นได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์

 ดังนั้นทุกบ้านจึงควรมี “ยาสามัญประจำบ้าน” ดังต่อไปนี้ ติดบ้านไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

  1. ยาดมและยาหม่องแก้วิงเวียนศีรษะ
  2. ยาลดไข้ และบรรเทาอาการปวด อาการไข้ คือ การที่ร่างกายของเรามีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.2 องศา ขึ้นไป ยาสามัญประจำบ้านที่ส่วนใหญ่เลือกใช้ คือ ‘พาราเซตามอล’

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตตามอลมากกว่าวันละ 4,000 มิลลิกรัม หรือไม่เกิน 8 เม็ด (เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) หากใช้เกินกำหนด อาจทำให้เสียชีวิตจากอาการตับวายได้ 

  1. เกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย
  2. ยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก ยาที่บรรเทาอาการเหล่านี้ได้คือ ‘คลอร์เฟนิรามีน’ แต่ไม่ควรกินยานี้เมื่อต้องขับรถหรือมีกิจกรรมสำคัญ
  3. ยาแก้ไอชนิดน้ำ ใช้บรรเทาอาการไอ รับประทานวันละ 3-4 ครั้งหรือจิบเวลามีอาการไอ
  4. ยาน้ำสำหรับลดอาการท้องอืดแน่นท้อง อาการท้องอืด เกิดจากภายในลำไส้และกระเพาะอาหารมีลม ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อาจทำให้นอนไม่หลับและกระทบต่อการทำงาน ยาที่ช่วยบรรเทาอาการนี้คือยาน้ำลดกรด
  5. ยาทารักษาแผลสด แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่นมีดบาด ล้มเป็นแผลถลอก เกิดขึ้นได้เสมอ นอกจากยาทารักษาแผลสดแล้ว ควรมีพลาสเตอร์ยา เพื่อปิดบาดแผลไม่ให้โดนสิ่งสกปรกจากภายนอกซึ่งจะทำให้เป็นแผลติดเชื้อได้
  6. น้ำเกลือล้างแผล ก่อนทายาอะไรก็ตามบนแผล ควรกำจัดสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำเกลือล้างแผลก่อน เพราะน้ำเกลือเป็นน้ำสะอาดและบริสุทธิ์ ไม่ทำลายเนื้อเยื่อ ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการล้างแผล
  7. ยาสำหรับทาผิวหนัง เมื่อมีปัญหาผดผื่นและระคายเคืองผิวหนังจนเกิดรอยแดง ยาที่ปลอดภัย ใช้งานง่าย และแทบไม่มีผลข้างเคียง คือ  คาลาไมน์โลชั่น
  8. ยาระบาย การปล่อยให้อาการท้องผูกเกิดขึ้นบ่อย ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม  จึงควรมียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ คือ ยาระบายชนิดน้ำ ติดบ้านไว้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวจนเกิดการขับถ่ายออกมา
  9. ยาแก้เมารถ เมาเรือ หรือการเดินทางอื่นๆ ยาแก้เมารถเมาเรือ ที่ควรมีติดบ้านไว้พร้อมหยิบฉวยไปด้วยเมื่อต้องเดินทางไกล คือ ไดเมนไฮดริเนต ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ไปจนถึงอาเจียนได้

 

วิธีเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้าน

  • เลือกซื้อยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สภาพดี เม็ดไม่แตก รูปทรงไม่บิดเบี้ยว ไม่มีจุดหรือสีแปลกต่างจากเดิม ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ยาน้ำต้องไม่มีตะกอน หรือหากเขย่าแล้วตะกอนต้องกระจายตัว
  • เลือกยาที่ผลิตจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย.
  • ตรวจสอบแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ ที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์
  • เลือกซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยา และจัดยาโดยเภสัชกร
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยาทุกครั้ง โดยแจ้งประวัติการแพ้ยาหรือแพ้อาหารให้ทราบด้วย
Prescription with copy space

วิธีการเก็บรักษายาเพื่อให้ยายังคงคุณภาพในการรักษาและไม่เสื่อมสภาพไปก่อนวันหมดอายุ

  • ควรเก็บยาสามัญประจำบ้าน โดยแยกยารับประทาน เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาระบาย ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ออกจากยาใช้ภายนอก
  • ยารับประทานควรเก็บไว้คนละที่กับยาล้างแผล ยาทารักษาโรคผิวหนัง ฯลฯ เพื่อป้องกันการหยิบใช้ยาผิดประเภท
  • จัดเก็บยาพร้อมฉลากยาที่ได้รับมา ไม่นำยาแต่ละชนิดมาปะปนกัน
  • ควรเก็บยาไว้ในแผงเดิม และแกะยาออกจากแผงเมื่อจะกินในแต่ละครั้งเท่านั้น
  • ยาบางชนิดควรเก็บให้พ้นแสงแดด ความชื้น ปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ
  • ควรเก็บยาไว้ในที่แห้ง หรือในอุณหภูมิตามที่ระบุไว้บนเอกสารกำกับยา ยาบางชนิดจะระบุว่าให้เก็บไว้ในตู้เย็น
  • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • ควรตรวจสอบวันหมดอายุของยาที่เก็บไว้สม่ำเสมอ

ข้อมูล : เภสัชกร อัษฎาวุธ อภัยใจ งานบริการจ่ายยาผู้ป่วยใน ฝ่ายเภสัชกรรม  โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รู้หรือไม่ การวิ่ง ใช้อวัยวะใดช่วยซัพพอร์ตบ้าง ?

ความเครียด ทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง

วูบหมดสติ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

จะซื้อเก้าอี้ทำงานสักตัว ต้องคิดถึงอะไรบ้าง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.