ความเครียด

ความเครียด ทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง

ความเครียด อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าไม่ดีกับสุขภาพ สุขภาพจิตย่ำแย่พลอยทำให้สุขภาพกายก็แย่ตาม แต่วันนี้เราจะมาดูกันว่า ความเครียด ทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง บอกเลยว่าความเครียดร้ายกว่าที่คิด!

ความเครียด คือ

ความเครียด หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องทางกายภาพด้วยนะคะ เพราะความเครียด คือการหดตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย ซึ่งอาจจะเกิดแค่ส่วนเดียว หรือหลายส่วนไปพร้อมๆ กัน

ส่วนทางด้านอารมณ์และจิตใจ ก็อย่างที่ทุกคนรู้กันก็คือ ความไม่สบายใจ วิตกกังวล รวมถึงรู้สึกกดดัน มีทั้งที่รู้สึกตัว และเครียดไม่รู้ตัว ทั้งนี้แต่ละคนมีการแสดงออกทางความเครียดต่างกัน บางคนเครียดแล้วปวดท้อง ปวดหัว หรือบางคนอาจจะกลายเป็นคนหงุดหงิด นอนไม่หลับ

ความเครียดกับฮอร์โมน

ในร่างกายเรามีฮอร์โมนอยู่ตัวนึงที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ฮอร์โมนความเครียด ซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการคือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) โดยในปกติแล้วร่างกายจะหลั่งออกมามากที่สุดในยามเช้า เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวพร้อมรับวันใหม่ และลดลงเหลือเพียง 100% ในยามเย็น ซึ่งจะตรงกับชีวิตประจำวัน ที่เราจะกระตือรือร้นพร้อมทำสิ่งต่างๆ และค่อยๆ พลังตกลงในช่วงเย็น เพื่อรอการพักผ่อนชาร์จแบตด้วยการนอนหลับ ซึ่งหากไม่มีฮอร์โมนคอร์ติซอลเลยก็จะทำให้ไม่มีแรงลุกขึ้นจากที่นอน ขาดความกระตือรือร้น และอ่อนเพลีย

แต่ในยามไม่ปกติฮอร์โมนคอร์ติซอลจะหลั่งออกมาในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์คับขัน หรือรู้สึกเครียด ซึ่งคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาจะส่งผลต่อร่างกายคือ

  • ความดันโลหิตสูงขึ้น
  • อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ออกมาทำไม ในเมื่อดูไม่มีข้อดีเลย ความจริงแล้วก็คือร่างกายสร้างขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งจะเกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายตื่นตัวนั้นเอง

ผลจากฮอร์โมนคอร์ติซอล

เมื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมา ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาคือ

  1. หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น
  2. หายใจตื้น
  3. ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีน
  4. ม่านตาขยาย
  5. กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  6. เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว
  7. เหงื่อออก

ความเครียดทำร้ายเราได้มากแค่ไหน

จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการหลั่งคอร์ติซอลออกมาร่างกายจะมีการเตรียมพร้อมมากมายเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่ หากว่าร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเป็นระยะเวลานาน หรือที่เรียกว่า “เครียดสะสม” ร่างกายก็จะทำงานหนักเกินไป จนกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากคอร์ติซอลมีฤทธิ์สลายและทำลายล้าง ทำให้ร่างกายเสื่อมและโทรมลงอย่างรวดเร็ว

ผลเสียต่อสุขภาพ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว ปวดเมื่อย หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เกิดโรคกระเพาะ ลำไส้แปรปรวน นอนไม่หลับ หอบหืด

ผลเสียต่อสุขภาพจิต วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวแย่

ซึ่งจากผลเสียเหล่านี้ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (์NCDs) ตามมาได้มากมาย คือ

ความดันโลหิตสูง

จากผลการศึกษาพบว่า คนที่มีความเครียดสะสม มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเลยทีเดียว เนื่องจากตลอดเวลาที่เกิดความเครียดร่างกายก็จะทำให้มีความโลหิตที่พุ่งสูง

โรคหัวใจ และหลอดเลือด

ความเครียดส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา นอกจากนั้นแล้วยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสหัวใจวาย นอกจากนั้นแล้วการที่มีความดันโลหิตสูงก็อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมได้ด้วยเช่นกัน

เครียดลงกระเพาะ กรดไหลย้อน

ความเครียดส่งผลให้เส้นเลือดในบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว รวมถึงร่างกายหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดโรคเครียดลงกระเพาะ รวมถึงอาการท้องอืด ลำไส้แปรปรวน และกรดไหลย้อน

โรคนอนไม่หลับ

เมื่อเกิดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด เจ็บป่วย

ไมเกรน

ความเครียดทำให้สารซีโรโทนินในสมองพร่องไป ทำให้หลอดเลือดในสมองพอง – หด มากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการปวดไมเกรน

วิธีลดความเครียด

  1. ออกกำลังกาย

อาการที่ทำร้ายสุขภาพต่างๆ จากฮอร์โมนคอร์ติซอล แก้ไขหรือหักล้างได้ด้วยฮอร์โมนเอนดอร์ฟีน ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายเพื่อให้ส่งผลต่อฮอร์โมนนี้ อาศัยเพียงแค่ เดินสัก 10 นาที หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์

2. นั่งสมาธิ

การทำสมาธิเป็นการฝึกจิตรูปแบบหนึ่ง ทำให้เราสามารถโฟกัสเรื่องหนึ่งเรื่องใด รวมถึงทำให้จิตใจสงบไม่วิตกกังวล เมื่อทำสมาธิให้ไปโฟกัสที่การกำหนดลมหายใจเข้า – ออก ก็จะทำให้ลืมความเครียดไปได้

3. ทำกิจกรรมต่างๆ

แม้จะไม่สามารถแก้ไขความเครียดได้ แต่การได้ดึงตัวเองออกจากความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะทำให้สมองปลอดโปร่งขึ้นได้ และอาจทำให้พบทางแก้ปัญหา

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ปรับสมดุลฮอร์โมนคอร์ติซอล
ฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลเสียอย่างไร
5 อาหารบำรุงฮอร์โมนเพศหญฺิง

ที่มา

  • ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โรงพยาบาลเปาโล
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.