ความดันโลหิตสูงเพราะดื่มกาแฟ เมื่อเครื่องดื่มสุดโปรดทำพิษ
ใครจะไปคิดว่าเครื่องดื่มของโปรดของใครหลายคนอย่าง กาแฟ ดื่มไม่ระวังก็ทำให้เป็นความดันโลหิตสูงได้เหมือนกัน วันนี้เรามีประสบการณ์จากผู้ป่วย ที่มีอาการ ความดันโลหิตสูงเพราะดื่มกาแฟ มาเล่าให้ฟัง พร้อมคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ดื่มกาแฟสด ทำความดันโลหิตสูง
คุณนารี (นามสมมติ) สาวโรงงานวัย 27 ปี ผู้ชื่นชอบการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ แต่เหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ทำให้เธอเปลี่ยนใจ
“ก่อนไปทำงานทุกเช้าจะดื่มกาแฟสำเร็จรูป 1-2 แก้วเป็นประจำ แต่มีวันหนึ่งที่เราไปกินกาแฟสดจากร้านค้าเปิดใหม่แถวบ้าน ดื่มเข้าไปไม่ถึงชั่วโมงดี ก็มีอาการปวดหัว จึงรีบไปห้องพยาบาล พอวัดความดันก็พบว่าสูงถึง 140/100 มิลลิเมตรปรอท ภายหลังพยาบาลให้นอนพักประมาณ 45 นาที และวัดความดันซ้ำอีกครั้งก็ลดลงเหลือ 130/90 ค่ะ”
ความเห็นจากแพทย์ เกี่ยวกับฤทธิ์ของกาแฟและความดันโลหิตสูง
“ฤทธิ์ของกาเฟอีนในกาแฟทำให้ความดันโลหิตของคนเราสูงขึ้นได้ชั่วคราว มีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้ว่า การดื่มกาแฟ 1 แก้วทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท ผลดังกล่าวเกิดขึ้นเต็มที่ 30-60 นาทีหลังดื่มกาแฟ และจะหายไปภายใน 2 ชั่วโมงต่อมา”
คำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์
การหยุดดื่มกาเฟอีนทันทีอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาอีกหลายวัน เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหงุดหงิดง่ายคุณนารีมีวิธีลดการดื่มกาแฟง่ายๆ ดังนี้
เริ่มจากลดปริมาณการดื่มกาแฟลง เหลือวันละครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ดื่มเป็นประจำ หลังจากนั้นเปลี่ยนการดื่มกาแฟเป็นชาเขียวหรือชาสมุนไพรต่างๆแทน และสุดท้าย ควรออกกำลังกายทุกเช้าเพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีกมากมายที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เช่น
- พันธุกรรม มีข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 30-60 อาจเกิดจากพันธุกรรม ดังนั้นผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า
- เชื้อชาติ พบว่าคนผิวสีมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากที่สุด
- เพศ พบว่าเพศชายมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าเพศหญิง ยกเว้นผู้หญิงที่มีอายุเกิน 50 ปีและเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งจะพบอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงพอๆ กับเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ลดลงมีผลต่อความดันโลหิตสูง
- ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดข้อ และยาแก้หวัดบางชนิด ซึ่งมีสารบางอย่างที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่องดใช้ยาดังกล่าวแล้วความดันจะกลับเป็นปกติ ยกเว้นผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงถาวรได้
รู้เช่นนี้แล้ว อย่าปล่อยให้ชีวิตคุณหรือคนที่คุณรักต้องตกเป็นเหยื่อของฆาตกรเงียบอย่างความดันโลหิตสูงกันเลยค่ะ
ติดตามข้อมูลสุขภาพน่าสนใจได้ที่ เฟซบุคแฟนเพจ : นิตยสารชีวจิต
ติดตาม instagram : cheewajitmedia
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็กสัญญาณเตือน อาจเป็นความดันสูงหากมีอาการเหล่านี้ (พร้อมวิธีรับมือ)
ความเครียด และนอนไม่หลับ ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง
แยกให้ออก ไขมันดีหรือร้าย ต้านโรคความดันโลหิตสูงได้หากกินเป็น