ผักเบี้ยใหญ่ ผักเบี้ย

ผักเบี้ยใหญ่ สมุนไพรไทยแหล่งโอเมก้า 3 ต้านอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม

ผักเบี้ยใหญ่ สุดยอดแหล่งโอเมก้า 3

ผักเบี้ยใหญ่ หรือ ผักอีหลี (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน) ผักตาโค้ง (นครราชสีมา) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Portulaca oleracea L. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae เป็นพืชตระกูลเดียวกับคุณนายตื่นสาย ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสด โดยจะบานตอนเช้าและหุบตอนแดดร่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปลิ่ม หรือรูปไข่กลับ ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านหลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีแดงเข้ม ลำต้นเตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน หรือบางครั้งปลายตั้งชูขึ้นได้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำเป็นสีเขียวอมแดง ก้านกลม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ  เป็นพืชที่มีอายุเพียงปีเดียว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

สรรพคุณผักเบี้ยใหญ่

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชที่ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่าใช้เป็นยารักษาโรคมากที่สุด

  • ในด้านการเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรครูมาติก และนรีเวชวิทยา
  • ด้านการเป็นยาระงับประสาท ระงับปวด บำรุงหัวใจ  แก้ไข้ ท่อขับปัสสาวะพิการ ขับพยาธิ ขับน้ำดี และแก้ท้องร่วง
  • การใช้เป็นยาภายนอก อาทิ ใช้เป็นยาแก้แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบออกผื่น ผื่นแดงและตุ่มน้ำตามผิวหนัง

ปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ๆ แสดงถึงฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเนื้อเยื่อ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือดรักษาโรคผิวหนัง และใช้ในเป็นส่วนผสมบำรุงผิวในเครื่องสำอาง

และที่สำคัญ ผักเบี้ยใหญ่น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สารกลุ่มอัลคาลอยด์จากผักเบี้ยใหญ่ สามารถยับยั้งฤทธิ์ของเอ็นไซม์ acetylcholinesterase ได้สูงมาก ซึ่งปัจจุบันยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้รับรองให้ใช้เป็นยารักษาโรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ได้

การแพทย์พื้นบ้าน ผักเบี้ยใหญ่

ส่วนในทางการแพทย์พื้นบ้านและการใช้เป็นยาในอดีต ผักเบี้ยใหญ่มีสรรพคุณ ดังนี้

  • ใช้ทั้งต้น แก้ไอ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยห้ามเลือด แก้ร้อน ดับพิษ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บวม แก้บิดถ่ายเป็นเลือด และช่วยหล่อลื่นลำไส้
  • ใบ ใช้แก้ขัดเบา แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้อาการอักเสบและแผล แก้เจ็บคอ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด ขับพยาธิตัวกลม ตำพอกแผลถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก แก้โรคผิวหนัง
  • เมล็ด เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาขับปัสสาวะ และเป็นยาถ่ายพยาธิ

ผักเบี้ยใหญ่มีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานเป็นผักสด ผักสลัด หรือนำมาต้ม ลวก รับประทานร่วมกับน้ำพริก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทานอาหารเจหรือมังสวิรัติ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะใบที่มีโอเมก้า 3 สูงมาก และมีข้อดีเหนือกว่าน้ำมันปลา คือ มีเส้นใยอาหาร ให้แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ โอเมก้า 3 เป็นสารสำคัญที่ส่งผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดไขมันตัวร้าย อย่างโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ช่วยเพิ่มไขมันตัวดี HDL

นอกจากนี้ ผักเบี้ยใหญ่ยังมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ลิเทียม โฟเลท และเป็นแหล่งของกลูตาไธโอน กรดแอลฟาไลโนเลนิก (ชนิดของกรดไขมันโอเมก้า 3) เมลาโทนิน

ดอกใช้สกัดสีในอุตสาหกรรมอาการ โดยให้รงควัตถุสี betalain 2 ชนิด คือ บีตาไซยานิน (betacyanin) ที่ให้สีแดงถึงม่วง และบีตาแซนทิน (betaxanthin) ที่ให้สีเหลืองส้ม

ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ เนื่องจากพบว่ามีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว ใบสดของผักเบี้ยใหญ่ 100 กรัม มีกรดออกซาลิก 1.31 กรัม หรือ 9% ของน้ำหนักแห้ง ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไตจึงควรระวังการใช้ นอกจากนี้ ผักเบี้ยใหญ่ยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง จึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโพแทสเซียมสูง

บทความน่าสนใจ

กระดูกไก่ดำ สุดยอดสมุนไพร แก้ปวด แก้อักเสบ

กะทกรก สมุนไพรยานอนหลับ ตำรับไทยพื้นบ้าน

ชุมเห็ดไทย สมุนไพรช่วยนอนหลับ

5 ตำรับบอระเพ็ด สมุนไพรป้องกันความแก่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.