สหราชอาณาจักรเดินหน้า โครงการ Better Health Programme
ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ 8 ประเทศร่วมแชร์องค์ความรู้สู้โรค NCDs
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอ้วนลงพุง เป็นสาเหตุที่ทำให้คนประมาณ 41 ล้านคนเสียชีวิตในแต่ละปี หรือคิดเป็น 71% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยผู้คนในปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์และการดำเนินชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารหวานมันเค็มจัด และขาดการออกกำลังกาย
สหราชอาณาจักรเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดตั้งโครงการ Better Health Programme เพื่อร่วมลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ผ่านการสร้างเครือข่ายการทำงานกับประเทศพาร์ทเนอร์ ซึ่งจะแบ่งปันความชำนาญและองค์ความรู้ในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากโรค NCDs และเรื่องระบบการดูแลสุขภาพ โดยเป็นต้นทางสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันเชื่อมโยงถึงผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับ 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ เพื่อรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ โดยดำเนินงานผ่านกองทุน UK Prosperity Fund ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นทุน 1,300 ล้านปอนด์ในการสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และช่วยลดความยากจนให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
“ภายใต้โครงการBetter Health Programme เราไม่เพียงให้เงินทุนสนับสนุนเท่านั้น แต่ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบพหุภาคี โดยมีนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และภาคธุรกิจมาเข้าร่วมด้วย เพราะสหราชอาณาจักรต้องการให้โครงการนี้เป็นตัวเชื่อมในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของสหราชอาณาจักรกับสถาบันในประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลกที่เกิดขึ้นได้”
ทั้งนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สหราชอาณาจักรโดยโครงการ Better Health Programme ได้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2563 (Prince Mahidol Award Conference 2020) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขระดับสูงจากประเทศพาร์ทเนอร์มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาสุขภาพและสุขภาวะ โดย ดร.สุรีย์วัลย์ ไทยประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักการเสียชีวิตของคนไทยเกิดจากโรค NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง รวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจร
“ถึงแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพติดอันดับ 6 ของโลก แต่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยกำลังถูกทดสอบจากโรค NCDs เพราะจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs สูงขึ้น ส่งผลต่อภาระด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพราะเชื่อว่าแต่ละประเทศมีองค์ความรู้และมีแนวทางรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับไทยได้ เพื่อพัฒนาการทำงานด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม”
ขณะที่ ดร.อรุณา จันดรัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กระทรวงสุขภาพ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า เพราะโรค NCDs ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใดๆ ล่วงหน้า ทำให้คนจำนวนมากไม่รู้ถึงสัญญาณของโรค โดย 70% ของชาวมาเลเซียที่เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นกลุ่มประชากรซึ่งอยู่ในวัยที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อจำนวนแรงงานด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเพิ่มภาระให้กับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน
“การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรค NCDs ทำให้ระบบสาธารณสุขของมาเลเซียค่อนข้างตึงตัว ค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องออกเองนั้นเพิ่มขึ้นไปถึง 38% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ในมาเลเซียกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างมหาศาลที่จะต้องให้บริการสาธารณสุขที่ดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร และภาระจากการแบกรับปัญหาของโรค NCDs ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ดร.เอดูโร กอนซาเลส-เปียร์ จากโครงการ Better Health Programme ประเทศเม็กซิโก แสดงความคิดเห็นว่า ผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพมักประสบกับปัญหาเหมือนกันทั้งแง่นโยบายและการบริหารทรัพยากร ซึ่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้
“ความร่วมมือสามารถสร้างได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับสถาบันจนถึงระดับส่วนตัว โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันขนาดเล็กจะยิ่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ค่อยมีความซับซ้อนและมีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันจะทำให้เกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีความเข้าใจถึงปัญหาและความท้าทายที่เจอเหมือนกันได้มากขึ้น”
อันสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ Better Health Programme ซึ่งต้องการเป็นหนึ่งช่องทางที่สนับสนุนการแบ่งปันความรู้จากเพื่อนสู่เพื่อน และสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป