“สวนผักคนเมือง” แนะทางรอดช่วงปิดเมือง วางแผนการบริโภคสั่งของตรงจากเกษตรกร
“สวนผักคนเมือง” แนะช่วงวิกฤตไวรัส โควิด-19 ควรเพิ่ม “พื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารของเมือง” ลดการแพร่กระจายเชื้อ เพราะสั่งอาหารจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกัน 25 มีนาคมนี้ รวมพลังปลูกผักช่วย “กลุ่มคนเปราะบาง” ที่เข้าไม่ถึงแหล่งอาหารให้มีอาหารทานช่วงปิดเมือง
หลังจากที่ตัวเลขข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 แล้ว 599 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2563) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นไปอีกโดยยังไม่สามารถทำให้ลดลงได้ ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการป้องกันและลดการติดเชื้อ จึงได้มีการขอให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย หรือถ้าจะออกมานอกบ้านก็เฉพาะจำเป็น ส่วนกรุงเทพมานครและปริมณฑลได้ประกาศปิดสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้า ให้เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาเก็ต เพื่อให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ในบ้าน ดีกว่าออกมาติดเชื้อนอกบ้าน ส่งผลให้เกิดการกักตุนอาหารเกิดขึ้น เพราะกลัวไม่มีอาหารทานระหว่างปิดเมือง 20 วัน
น.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ ประชาชนควรจะได้รับประทานอาหารที่หลากหลาย สด เพื่อให้สุขภาพดี และ แข็งแรง ซึ่งสวนผักคนเมืองและเครือข่ายเกษตรกรรมต่าง ๆ คิดว่า ตลาดทางเลือก ตลาดเกษตรกร อย่าง city farm market ที่ทำในขณะนี้ เป็น “พื้นที่เชื่อมโยงและกระจายอาหารของเมือง” มีความสำคัญมากในการช่วยส่งตรงอาหารจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค เพราะถ้าจะส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มปลูกผักเองในเวลานี้ ก็คงไม่ทัน
สำหรับในภาวะคับขันเช่นนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำ มีดังต่อไปนี้
หนึ่ง ต้องรู้จักวางแผนการบริโภคอาหารของตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการสำรวจว่าในบ้านตัวเองมีอาหารมากน้อยแค่ไหน ระหว่างปิดเมืองจะต้องมีอาหารเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอของตัวเองคนเดียว ขณะเดียวกันก็สำรวจ ดูครอบครัวของตัวเอง เช่น พ่อแม่พี่น้อง ว่า ระหว่างปิดเมืองนี้ จะต้องบริโภคอาหารมากน้อยแค่ไหน ต้องมีอาหารเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอกับทุกคน
สอง ต้องรู้วิธีการเก็บรักษาพืชผักระยะยาวด้วยว่าควรทำอย่างไร เพราะถ้าซื้อมาแล้ว แต่เก็บรักษาไม่เป็น เน่าเสีย ก็ไม่เกิดประโยชน์
สาม มองหาตลาดสด หรือ ตลาดทางเลือกใกล้บ้าน ว่า มีอะไรขายให้ได้บ้าง อาจจะใช้การสั่งจองล่วงหน้า ให้เอกชนมาขนส่งถึงหน้าบ้าน เช่น ที่ City Farm Market ทำอยู่ คือ เอาของมารวมกันที่นี่ ผู้บริโภคสั่งออนไลน์เข้ามา ก็จะเอาสิ่งที่ออเดอร์ส่งให้เกษตรกรรู้ว่า ผู้บริโภคต้องการผักชนิดไหน เท่าไหร่ เกษตรกรแพ็คของแล้วส่งกลับมาให้ส่วนกลาง หลังจากนั้นก็ส่งต่อให้ผู้บริโภคโดยขนส่งเอกชน
ในภาวะเร่งด่วน และในภาพกว้างที่หลายหน่วยงานควรทำร่วมกัน ถ้ามีระบบเชื่อมโยงอาหาร จะช่วยได้ทั้งเกษตรกร และ ผู้บริโภค ให้ผ่านวิกฤติช่วงนี้ไปได้ด้วยกัน แต่สำหรับในระยะสั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ที่ทาง ส่วนผักคนเมือง ร่วมด้วยช่วยกันจัดทำ คือ การช่วยเหลือ “กลุ่มคนเปราะบาง” ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างแรงงาน กลุ่มคนที่ตกงาน หรือ กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่แอดอัดหาเช้ากินค่ำ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อห้ามออกจากบ้าน โรงงานปิด ทุกอย่างก็จบ เพราะ รายได้ไม่มี รวมถึงไม่มีอาหารสดที่ใช้เพื่อประทังชีพระหว่างที่ปิดเมืองด้วย
น.ส.วรางคนางค์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มสวนผักคนเมืองจึงได้กำหนดให้วันพุธที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ เจ้าหน้าที่จะร่วมกันลงแปลงปลูกผัก โดยใช้พื้นที่ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ประมาณ 300 ตารางเมตร เป็นแปลงลูก ใช้เวลาตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ปลูกผัก เมื่อได้ผลผลิตออกมาทั้งหมด ก็จะนำมาส่งมอบให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยขอเลือกที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ตำบลไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ก่อน เพราะเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฯ และจะเน้นเน้นการปลูกผักอายุสั้น ได้ผลผลิตเร็ว เพื่อส่งอาหารสดได้เร็ว
สำหรับการปลูกผักมอบให้กับกลุ่มคนเปราะบางนี้ อยากเชิญชวนให้กลุ่มสวนผักคนเมือง เพื่อนร่วมเครือข่าย หรือ เพื่อนที่ไม่ใช่เครือข่าย ได้ลองทำแบบเดียวกันบ้างในกลุ่ม หรือ พื้นที่ของตัวเอง เพราะ จะให้ทางเราลงไปทำทุกที่คงไม่สามารถทำได้ แต่เราสามารถช่วยได้หากบางกลุ่มที่ปลูกผักเพื่อช่วยเหลือแบ่งปันแบบนี้บ้าง แต่ไม่มีกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เรื่องนี้ทางเราจะช่วยหากลุ่มเปราะบางเพื่อให้ท่านส่งไปช่วยเหลือได้
“ในสถานการณ์เช่นนี้ คิดว่า การได้ทำเช่นนี้ ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติของเชื้อไวรัสโควิ-19 นี้ไปได้พร้อม ๆ กัน” ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง กล่าว
แล้วเราทุกคนจะรอดไปด้วยกันค่ะ
อ่านเพิ่มเติม บทความน่าสนใจ
8 วิธีดูแลตัวเอง ครอบครัว ป้องกันโควิด-19 เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน
คิดบวก “สู้ภัยโควิด19” เปลี่ยนวิกฤตเป็น ‘ความยั่งยืนของชุมชน’