เกมพาเพลิน เสริมระบบความจำวัยเก๋า
เมื่ออายุของคุณตาคุณยายเพิ่มขึ้น เราจะเห็นว่ามักมีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือประสิทธิภาพความจำลดลง นับเป็นปัญหาใหญ่ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวคุณตาคุณยายเองและลูกหลานที่ต้องดูแลอย่าใกล้ชิด
เนื่องจากโรคสมองเสื่อมยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปภาวะเสื่อมถอยของสมองก็มีมากขึ้นไปตามลำดับ สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีอาการสมองเสื่อม และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกะทันหันนำไปสู่ภาวะการติดเตียง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเลี่ยงไม่ได้
โรคอัลไซเมอร์นับเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอาการสมองเสื่อมในวัยคุณตาคุณยาย หากวัดจากประชากรโลก ประมาณทุกๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คน ซึ่งอาการของโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะความจำเท่านั้น ยังรวมไปถึงประสิทธิภาพในการตัดสินใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ยากขึ้น คิดช้า พูดช้า หรือเล่าเรื่อมเดิมซ้ำๆ
แต่อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ภาวะปกติที่พบในผู้สูงอายุทุกคน อาการของโรคนี้จะพัฒนาอย่างช้า ๆ หรือใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผลกระทบอย่างร้ายแรง ซึ่งถ้าเป็นในระยะเริ่มต้นอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นอาการหลงลืมปกติของผู้สูงอายุทั่วไป
แม้ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาอาการสมองเสื่อมให้หายขาด แต่คุณตาคุณยายสามารถทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองไม่ให้เสื่อมถอยลงอย่างการเล่นเกม
เกมที่ควรมีติดบ้านคุณตาคุณยาย
หนึ่งในงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ลงในวรสาร Frontier in Humans Neuroscience โดย Rui Nouchi และทีมวิจัย Frontier Research Institute for Interdisciplinary Science (FRIS) ประเทศญี่ปุ่น พบว่า เมื่อทดลองให้ผู้สูงอายุที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี เข้าร่วมกิจกรรมแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์อย่างการบวกลบเลข เป็นเวลาต่อเนื่อง 6 เดือน ผู้สูงอายุจะสามารถจดจำเหตุการณ์ในระยะยาวได้ และมีสมาธิจดจ่อดีขึ้น นอกจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ‘เกม’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ยกตัวอย่างเช่น
1.เกมซูโดกุ เป็นเกมฝึกสมองที่ยอดเยี่ยมสำหรับทุกวัย เพียงแค่ใส่ตัวเลข 1-9 ในตารางปริศนาขนาด 9*9 โดยที่ในแต่ละช่องตัวเลขห้ามซ้ำกัน เมื่อทำสำเร็จผู้สูงอายุก็จะเกิดความจรรโลงใจเห็นถึงความสามารถของตนเอง และช่วยประเมินผลกระทบของการตัดสินใจในแต่ละวัน
2.เกมหมากรุก และหมากล้อม สามารถส่งเสริมระบบสมองและสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ เพราะสอนกลยุทธ์การวางแผนล่วงหน้า การคิดนอกกรอบ ฝึกไอคิวและสมาธิให้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ
3.เกมจับคู่การ์ด สามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นกับกลุ่มเพื่อนได้ เกมนี้จะช่วยเพิ่มทักษะความจำได้เป็นอย่างดี ด้วยวิธีการเล่นที่ต้องจำรูปแบบการ์ดแล้วเลือกจับคู่ให้ถูกต้อง หากการ์ดทั้งสองใบไม่ตรงกัน ผู้เล่นที่จับคู่ได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
4.เกมบิงโก เป็นกิจกรรมที่สนุกและเล่นง่าย แต่สามารถช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสอันได้แก่ การสัมผัสอุปกรณ์ในการเล่น การได้ยินเมื่อมีการบอกตัวเลข และการใช้สายตาในการมองหาตัวเลขในแผ่นกระดาษของตนเอง นอกจากนี้บิงโกยังเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ช่วยลดความเหงาและเพิ่มความสุขให้กับผู้สูงอายุ
เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทั้งสนุก แถมยังช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุให้ช้าลง เพราะทุกเกมนั้นล้วนต้องใช้ความคิดและสมาธิที่เชื่อมโยงกับระบบความจำของเรา หากทุกวันนี้คุณตาคุณยายเริ่มมีอาการหลงลืมอย่าลืมไปเช็กสุขภาพ และลองฝึกเล่นเกมวันละนิด เพื่อพิชิตความจำได้อย่างแม่นยำนะคะ
เกมเปลี่ยนท่าทางช่วยบริหารสมอง
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ แนะนำท่าบริหารสมองที่คุณตาคุณยายสามารถทำได้ไม่ยาก หรือจะนำมาดัดแปลงเป็นเกมให้กลุ่มผู้สูงอายุร่วมเล่นด้วยกัน โดยในการเปลี่ยนท่าทางแต่ละครั้งให้เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
1) ท่าโป้งก้อย : มือขวาชูนิ้วโป้ง มือซ้ายชูนิ้วก้อย เมื่อทำได้ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาชูนิ้วก้อย มือซ้ายชูนิ้วโป้ง
2) ท่าจีบแอล : มือขวาทำมือรูปจีบ มือซ้ายทำมือเป็นรูปตัวแอล เมื่อทำได้ให้สลับมือเปลี่ยนเป็นมือขวาทำมือรูปตัวแอล มือซ้ายทำเป็นรูปจีบ
3) ท่าจับจมูกจับหู : มือขวาจับปลายจมูก มือซ้ายจับหูขวา เมื่อทำได้ให้สลับเปลี่ยนเป็นมือขวาจับหูซ้าย มือซ้ายจับปลายจมูก
ข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 514
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กิจกรรมที่ผู้สูงอายุ ช่วยลดภาวะซึมเศร้า ชะลอภาวะสมองเสื่อมได้
เปิดตำราดูแลผู้สูงวัย ไม่ให้เกิดภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
“สังคมผู้สูงวัย” เข้าใกล้มาทุกที แล้วแบบนี้เราควรตั้งมือรับอย่างไร?