ป้องกันท้องอืด

4 วิธีป้องกันท้องอืดจากพืชผัก

4 วิธีป้องกันท้องอืดจากพืชผัก  

แม้ท้องอืดจะเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ท้องอืดก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงได้ ใครที่สังเกตตัวเองว่ามีอาการท้องอืดบ่อยๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ รีบหาทางป้องกันและรักษา เพราะอาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงได้

อาการท้องอืด

อาการท้องอืด คือ ความรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้อึดอัดไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ หรืออยากอาหารน้อยลง ซึ่งโดยปกติแล้วการมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารนั้นอาจเกิดจากการกินอาหาร ทั้งลักษณะอาหาร และชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ซึ่งมีผลในการกดระบบประสาทและทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน

สำหรับบางรายที่มีอาการท้องอืดมากหรือนาน อาจเนื่องมาจากโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะเป็นแผล มะเร็งทางเดินอาหารหรือลำไส้ มีการติดเชื้อพวกพยาธิ โรคลำไส้แปรปรวน หรือเป็นการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้เอง รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบอื่นๆ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

แก๊สในลำไส้

เชื่อว่าคนรักสุขภาพหลายท่าน หรือมือใหม่ที่เริ่มหัดกินผัก อาหารที่มีกากใยมาก อาจพบปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือแน่นท้องได้ เพราะแบคทีเรียในลำไส้ย่อยกากใยในอาหารและปล่อยแก๊สออกมา จึงทำให้บางคนเกิดอาการท้องอืด

สถาบันวิจัยมะเร็งสหรัฐอเมริกา (AIRC) มี 4 คำแนะนำในการป้องกันท้องอืดสำหรับมือใหม่ ดังต่อไปนี้

1.เริ่มแต่น้อย ค่อยๆ ปรับเพิ่ม

การปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะทำให้ร่างกายปรับตัวได้ดีกว่า เช่น ถ้าเราตั้งใจกินข้าวกล้องแทนข้าวขาว ควรผสมข้าวกล้องกับข้าวขาวอย่างละครึ่ง รอให้ร่างกายปรับตัว 3 – 7 วัน หลังจากนั้นค่อยๆเพิ่มสัดส่วนข้าวกล้อง จนกระทั่งเลิกใช้ข้าวขาวและหันมากินแต่ข้าวกล้องอย่างเดียว

2.กินผักสุกก่อนเพิ่มผักสด

คนส่วนใหญ่จะกินผักสุกได้มากกว่าผักสด ช่วงที่เป็นมือใหม่หัดกินผักน่าจะกินผักสุกให้มากหน่อย เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนผักสดทีละน้อย

3.ดื่มน้ำและเดินให้บ่อยขึ้น

ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยดื่มคราวละน้อยๆ แต่บ่อยๆ ตลอดวัน และควรเดินให้มากขึ้น เช่น หลังมื้ออาหารควรเดินช้าๆ 10 – 15 นาที เพราะช่วยให้ลำไส้เล็กบีบตัวให้อาหารผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น แบคทีเรียในลำไส้สร้างแก๊สน้อยลง ช่วยป้องกันอาการท้องอืด

กินผักสุกก่อนเพิ่มผักสด

4.ลดการกินผักที่ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้

ผักบางชนิดอาจทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่มากขึ้น ได้แก่ หัวหอม กระเทียม ถั่ว และผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวผักกาด การกินพืชผักเหล่านี้ให้น้อยลงจะช่วยลดอาการท้องอืดได้

อย่างไรก็ดี ถ้าหากคุณมีอาการท้องอืดหรือแน่นท้องเกิดขึ้นแล้ว สมุนไพรไทยๆ อย่างขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา หรือกระชาย สามารถช่วยขับลมและบรรเทาอาการต่างๆ ลงได้

ที่สำคัญ พืชผักต่างๆ ล้วนมีคุณค่า การกินผักให้ได้ผลดีที่สุดจึงควรกินเป็นประจำทุกวัน และควรกินข้าวกล้อง ถั่ว งา เห็ด ผัก และผลไม้หลากหลายชนิดสลับกันไปค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ผู้หญิงต้องรู้ “ปวดท้องน้อย” เสี่ยงอะไรบ้าง

สังเกต อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง สัญญาณเตือนสุขภาพคุณผู้หญิง

CHECK IT OUT ตำแหน่งปวดท้อง บอกโรคได้

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.