ปั๊มหัวใจ CPR ช่วยชีวิต

แนะนำ CPR ให้เป็นทุกคน ช่วยชีวิตทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ลดการเสียชีวิตได้

CPR หนึ่งในวิธีช่วยชีวิตพื้นฐาน ไม่ว่าใครก็ควรรู้ไว้

ทำไมถึงควรทำ CPR เป็น? เพราะปัจจุบันมีข่าวการเสียชีวิตอย่างกระทันหันเพิ่มมากขึ้นทุกๆวัน ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดี แข็งแรง รวมถึงในนักกีฬา ซึ่งการเสียชีวิตอย่างกระทันหันนั้นส่วนมากเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่พบมากขึ้นก็เพราะในยุคสมัยนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น ทั้ง PM2.5 ทั้งไลฟ์สไตล์ที่มีการเปลี่ยนไป (เช่น การกินอาหาร และการออกกำลังกาย) จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเติมจากโรคประจำตัวเดิม (เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง) และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า มีคำแนะนำในการช่วยชีวิตเบื้องต้น ในกรณีที่พบผู้หมดสติอย่างกระทันหัน โดยให้คิดถึงภาวะหัวใจวาย และเป้าหมายสำคัญคือควรได้รับการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต (CPR) และควรได้รับการช็อกไฟฟ้าด้วยเครื่อง AED (Automated External Defibrillator) โดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากภาวะนี้

ขึ้นตอนทำ CPR มีอะไรบ้าง

-อันดับแรกให้เราประเมินสถานการณ์ก่อน ว่าเรามีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วย และมีความปลอดภัยในการเข้าไปช่วยหรือไม่ เช่น ถ้าคนไข้ถูกไฟช็อต ก็ต้องตัดไฟก่อนเข้าช่วยเหลือ  (scene safety)

ให้เราประเมินว่าคนไข้หมดสติไปจริงหรือไม่ โดยปลุกเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงที่ดัง และตบไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อประเมินการตอบสนองของผู้ป่วย หากพบว่าไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 พร้อมร้องขอเครื่อง AED ที่อยู่ใกล้ที่สุด ให้มาที่จุดเกิดเหตุทันที (call for help)

ช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย วางส้นมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างของกึ่งกลางกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอก ด้วยความลึก 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120ครั้งต่อนาที โดยไม่จำเป็นต้องช่วยหายใจ (start hand-only CPR)

เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย, AED CPR
 

เมื่อเครื่อง AED มาถึง ให้เปิดเครื่อง และทำตามที่เครื่อง  AED แนะนำ ซึ่งจะมีขั้นตอนคร่าวๆดังนี้

1 เปิดเครื่อง

2 แปะแผ่นนำไฟฟ้าบนหน้าอกผู้ป่วย

3 เครื่องวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ขั้นตอนนี้ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย)

4 เมื่อเครื่องแนะนำให้ทำการช็อก ให้กดปุ่มช็อก (ขั้นตอนนี้ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย)

5 หลักจากเครื่องช็อกเสร็จให้เริ่มทำการกดหน้าอกต่อทันที

6 เมื่อครบสองนาที เครื่องจะสั่งให้หยุดCPR และจะวนไปขั้นตอนที่ 3 ต่อ

ปฏิบัติตามที่เครื่อง AED แนะนำ จนกว่าทีมกู้ชีพ จะมาถึง และ ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอด และปลอดภัย

ในกรณีที่ไม่มี AED ให้ทำการกดหน้าอกอย่างเดียวไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง

ผู้ช่วยเหลือจะหยุดกดหน้าอกได้ก็ต่อเมื่อ 1) ผู้ป่วยเริ่มขยับตัว 2) ทีมกู้ชีพมาถึง 3) AED แจ้งว่าไม่ให้สัมผัสผู้ป่วย

แล้วในเด็กล่ะ

นพ.วิสุทธิ์ เกตุแก้ว กล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่เป็นเด็ก การทำCPR คล้าย ๆ กับผู้ใหญ่ แต่ของเด็กจะเน้นการเรื่องทางเดินหายใจเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่การเสียชีวิตในเด็กจะมาจากทางเดินหายใจอุดตัน เช่น การกินอาหารติดคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดหลอดลม ซึ่งการช่วยชีวิตในขั้นตอนแรกให้ดูว่ามีอะไรอุดในลำคอ หรือในปากหรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมที่เอาออกได้ให้เอาออก แต่ถ้าไม่เห็นหรือไม่มั่นใจ ห้ามเอานิ้วล้วงเข้าไปในปากเด็กเพราะ อาจจะทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นเข้าไปลึกขึ้น

ในกรณีที่เด็กอายุยังไม่ถึง 1 ขวบ ขั้นตอนแรกให้จับเด็กคว่ำหน้า ให้ศีรษะต่ำแล้วตบที่ระหว่างกระดูกสะบักด้านหลัง 5 ครั้ง (back blow) เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หรือถ้าเด็กที่มีอายุเยอะหน่อยก็ใช้วิธีการกดที่บริเวณท้อง (abdominal thrust) โดยการเข้าทางด้านหลัง ใช้แขนสอดข้างลำตัวเด็ก วางมือที่ใต้ลิ้นปี่ และออกแรงดึงมือเข้ามาที่ลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว ถ้าหากระหว่างที่ทำการช่วยเหลือ พบว่าเด็กหมดสติและไม่หายใจ ให้เริ่มทำCPR ทันที

และจำไว้ว่า “อย่าใช้นิ้วล้วงเข้าปากเด็ก เพราะอาจะจะทำให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปลึกขึ้น

(ที่มา : โรงพยาบาลพระรามเก้า)


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย ป้องกันเสียชีวิต

ออกซิเจน VS ซีพีอาร์ จำเป็นต่อผู้ป่วย หัวใจวาย แค่ไหน

เทคโนโลยีใกล้ตัว กู้ชีพ ผู้ป่วยหัวใจวาย เฉียบพลัน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.