เพิ่มไอคิว พัฒนาสมอง ด้วยการเลิกคิดลบ
การดูแลสุขภาพสมองไม่ให้เสื่อมก่อนวัยจนกลายเป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจ แต่ขณะเดียวกันการ เ พิ่ ม พ ลั ง ส ม อ ง เพื่อเพิ่มสติปัญญา ความฉลาด หรือ ไอคิว ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น วันนี้เรามาแนะนำให้รู้จักกับนิสัยคิดลบ 9 ประการ ที่ควรหลีกเลี่ยงหากอยาก เพิ่มไอคิว ค่ะ
จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์มามากกว่าหมื่นรายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา คุณหมอแดเนียล จี. เอเมน นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง สรุปว่า
ความคิดลบมี 9 แบบ ดังนี้
1. คิดด้วยความรู้สึก ปกติเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้ แต่ถ้าเอาแต่รับรู้ความรู้สึกลบๆแล้วนำมาขยายต่อ เช่น “ฉันรู้สึกว่าเขาไม่ชอบฉัน” ซึ่งบางทีก็ไม่จริง เพราะความรู้สึกมักหลอกเรา เมื่อเรารู้สึกเหนื่อย หิว กังวลกับอะไรบางอย่าง หรือกำลังอยู่ในภาวะเครียด สมองจะหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมา
แก้อย่างไร อย่าให้ความรู้สึกในทางลบแบบนี้กำหนดความคิดของเรา ถ้าเกิดขึ้นให้เขียนลงสมุด และหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนี้
2. รู้สึกผิด เมื่อเรานึกถึงเรื่องราวบางอย่างแล้วคิดว่ามันน่าจะ ควรจะ หรือจะต้อง เรากำลังเริ่มกระบวนการโยนความผิดให้ตนเองแล้ว
โดยเฉพาะคนที่ชอบยกความต้องการของคนอื่นขึ้นมาก่อนความต้องการของตนเอง เมื่อต้องทำเพื่อตนเองบ้างก็จะรู้สึกผิดความจริงเราควรทำเพื่อคนอื่นบ้างจึงถูกต้อง แต่อย่ารู้สึกไม่ดีเมื่อต้องทำเพื่อตนเอง
แก้อย่างไร ลองชั่งใจว่า ควรทำอะไรให้ใครก่อนหรือหลังสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยพยายามทำใจให้สบายก่อนตัดสินใจ
3. คาดเดาอนาคตเอง
เมื่อเราคาดเดาอนาคต ปกติมักจะเป็นไปในทางลบเสมอ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น หัวใจจะเต้นแรง ลมหายใจจะสั้นและตื้น ต่อมอะดรีนัล
จะหลั่งอะดรีนาลินและคอร์ติซอลออกมา ระดับความเครียดจะพุ่งสูงขึ้น ในที่สุดก็มักจะลงเอยด้วยเรื่องลบอย่างที่คาดเดาไว้
แก้อย่างไร ปกติถ้าเราคิดว่างานจะไม่สำเร็จ เรามักจะมีความกังวลหรืออารมณ์ไม่ดี ฉะนั้นเมื่อลงมือทำงาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละคืออุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ
4. อ่านใจคนอื่น
แม้เขาไม่พูดออกมา แต่เราก็เชื่อว่า เรารู้ว่าเขาคิดอะไร เช่น ทำหน้าแบบนี้แปลว่าไม่ชอบเราแหง ซึ่งนั่นอาจจะมาจากสาเหตุอื่น
เช่น มีปัญหาเรื่องงานมา
แก้อย่างไร ฉะนั้นจงอย่าให้การอ่านใจคนในทางลบเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ แม้ว่าการอ่านใจคนอื่นได้เป็นเรื่องดี แต่ต้องระมัดระวัง
5. ลากสถานการณ์วนมาเข้าตัว
หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงมักคิดว่า หากสามีกลับบ้านผิดเวลาหรือไม่โทร.หา หมายความว่า เขาลดความรักที่มีต่อเราลงแล้ว ทั้งที่ความจริงสาเหตุของเรื่องดังกล่าวอาจไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ได้ คุณหมอแดเนียลเล่าเรื่องผู้ป่วยคนหนึ่งที่กล่าวว่า การสอบตกของลูกสาววัยอุดมศึกษาเป็นความผิดของตนเพราะไม่มีเวลามากพอในการติวให้ลูก ทั้งที่ความจริงการสอบได้หรือสอบตกในเด็กวัยนี้ล้วนเป็นความรับผิดชอบของตัวเด็กเอง
6. คิดว่าสิ่งนี้มักเกิดขึ้นเสมอ
เมื่อไรก็ตามที่เราคิดรวบยอดเบ็ดเสร็จว่า “บ่อยไป” “ไม่มีทาง” “ไม่มีใคร” “ทุกคนนั่นแหละ” “ตลอดเวลาเลย” เช่น เขาไม่เคยฟังฉันเลย ทุกคนมีทางไปยกเว้นฉัน เท่ากับว่าจิตใจของเรากำลังขังเราไว้กับความรู้สึกลบ ซึ่งจะทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่
7. จดจ่ออยู่แต่เรื่องร้าย
ปกติผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตมักจะรู้ว่า มีโอกาสเกิดทั้งเรื่องดีและร้ายในเวลาเดียวกัน แต่การจดจ่ออยู่แต่เรื่องร้าย เช่น กลัวว่าทำเช่นนี้
แล้วจะมีอะไรร้ายๆแบบนี้เกิดขึ้น นั่นจะทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่
แก้อย่างไร คนเราควรคิดถึงผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีสติและปัญญา หรือหากต้องหาคนช่วยสมองที่ปลอดโปร่งก็จะช่วยให้เราเลือกคนที่ถูกต้องมาร่วมงานด้วย
8. การตราหน้า
การนิยามตนเอง คนอื่น หรือสถานการณ์ในทางร้าย เช่น เขาโง่ ฉันปัญญาอ่อน นโยบายเฮงซวย ไม่ทำให้สมองคิดวิเคราะห์คนหรือ
สถานการณ์ตามความเป็นจริง จึงอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาผิดพลาดได้
9. โทษคนอื่น
การกล่าวโทษคนอื่นหรือสถานการณ์ที่นำพาผลร้ายหรือความไม่สำเร็จในหน้าที่การงานมาสู่ตนเองนั้น เป็นความคิดลบที่อันตรายที่สุดในบรรดาความคิดลบทั้งหมด เพราะวิธีคิดนี้จะปิดบังไม่ให้เราเห็นข้อผิดพลาดของตนที่จะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาตนเอง
แก้อย่างไร เมื่อสถานการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ให้มองหาทางแก้ปัญหาหรือสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน การฝึกฝนจิตใจ พร้อมการกินอาหารสุขภาพและการออกกำลังกาย จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพของสมอง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และลดความเสี่ยงโรคสมองได้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สารพัดวิธีป้องกัน โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ตอนที่ 1 หลอดเลือดสมอง
จิ้งหรีด แมลงกินได้บำรุงสมอง ต้านโรคซึมเศร้า
มหัศจรรย์ ปวยเล้ง ผักป้องกัน โรคสมองเสื่อม
บู๊สต์สมอง 3 มิติ สไตล์ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ