สู้มะเร็ง

สู้มะเร็ง ฉบับหมอแอนดรู ไวล์ ด้วย 5 อาหารต้านโรค

สู้มะเร็ง ด้วยการกิน!

เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ไม่มีเชื้อโรค แต่เกิดจากการใช้ชีวิตผิดๆ ทั้งการกิน นอน พักผ่อน ออกกําลังกาย และทํางาน โดยเฉพาะเรื่องการกินผิดนั้น เป็นสาเหตุก่อโรคที่สําคัญ ในทางตรงกันข้าม หากเลือกกินอาหารสุขภาพซึ่งมี “สารพฤกษเคมี” ก็จะช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้

หนังสือ กินให้ดี ของ นายแพทย์แอนดรู ไวล์ อธิบาย ถึงประโยชน์ของสารพฤกษเคมีไว้ว่า “การศึกษาวิจัยในแวดวงอาหารค้นพบว่า สารพฤกษเคมีในพืชนั้นช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ” ลองไปดูกันดีกว่า ว่าอาหารเหล่านี้มีอะไรบ้าง

  1. ลูกพรุน

นอกจากผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้แล้ว ยังมีผลไม้อร่อยอีกชนิดที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคร้ายดังกล่าวได้ดีเช่นกัน นั่นคือลูกพลัมและลูกพรุน (ลูกพลัมแห้ง)

ข้อมูลจากนักวิจัยในรัฐเทกซัสประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ลูกพรุนอุดมไปด้วยสารแอนติออกซิแดนต์ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็งได้เทียบเท่ากับผลไม้ตระกูลเบอร์รี่โดยนักวิจัยยืนยันผลการทดลองในห้องปฏิบัติการว่า สารแอนติออกซิแดนต์ที่พบในลูกพรุนมีประสิทธิภาพในการลดโอกาสเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้

2. ชาเขียว

ชาเขียวเป็นเครื่องดื่มประจําชาติญี่ปุ่น ทําจากใบอ่อนของต้นชาชนิด Camellia sinensis เป็นชาที่ผลิตโดยไม่ผ่านกระบวนการหมัก จึงยังคงมีสารพฤกษเคมีในกลุ่มสารคาเทชิน (Catechin) ในปริมาณสูง โดยเฉพาะสารอีจีซีจี (EGCG-Epigallo catechin gallate) ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันและลดกาเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ดร.ริชาร์ด เบลิโว และคณะจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ทําการศึกษาประสิทธิภาพของสารอีจีซีจีในการควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็งแต่ละชนิด พบว่า สารอีจีซีจีช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งภายในช่องปาก

เนื่องจากสารสําคัญในชาเขียวจะช่วยกําจัดสารพิษที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น โดยทีมนักวิจัยแนะนําว่า ควรดื่มชาเขียวร่วมกับอาหารสุขภาพอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลือง เพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็ง

3. ถั่วเหลือง

หลายคนไม่อยากกินถั่วเหลืองเพราะเชื่อว่ากินแล้วยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม แต่ความจริงแล้ว ถั่วเหลืองมีสารพฤกษเคมีที่ทรงพลังในการป้องกันการเกิดและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สารดังกล่าวคือ ไอโซฟลาโวน (Isoflavone) โดยเฉพาะเจนิสทีน (Genistein) นายแพทย์แอนดรู ไวล์ อธิบายหลักการทํางานของสารสําคัญตัวนี้ว่า

“สารไอโซฟลาโวนสามารถป้องกัน ‘ตัวรับฮอร์โมนเอสโทรเจน ’ (Estrogen Receptor) เอาไว้ ไม่ให้เปิดรับฮอร์โมนเอสโทรเจนเข้ามามากเกินไปและป้องกัน ‘สารคล้ายฮอร์โมนเอสโทรเจน’ ที่ร่างกายอาจรับมาจากภายนอกจนเกินจําเป็นได้ด้วย

“เป็นที่ประจักษ์มานานแล้วว่า คนที่กินถั่วเหลืองมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และอาการหมดประจําเดือนน้อยมาก ฉะนั้น ผมขอแนะนําว่า ให้ผู้หญิงกินถั่วเหลืองเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ควรกินถั่วเหลืองในปริมาณที่พอเหมาะ”

4. เห็ด

อาหารญี่ปุ่นมีเห็ดเป็นส่วนประกอบหลัก แม้แต่ในโรงพยาบาลก็ทําอาหารจากเห็ดให้คนไข้ที่ได้รับยาเคมีบําบัดกินเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ เห็ดมีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งเป็นโมเลกุลของน้ําตาลที่มีห่วงโซ่ยาวมากและเป็นส่วนประกอบของเซลล์หลายชนิด มีรายงานพบว่า สารนี้ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานโดยตรง

ข้อมูลงานวิจัยเรื่องหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคีวชู ประเทศญี่ปุ่น พบว่าการให้ผู้ป่วยมะเร็งลําไส้ใหญ่กินอาหารทีทําจากเห็ดระหว่างและหลังจากการได้รับยาเคมีบําบัด สามารถยืดอายุของผู้ป่วยออกไปได้นานขึ้น นักวิจัยอธิบายว่า อาจเป็นเพราะสารสําคัญในเห็ดช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายของผู้ป่วย จึงทําให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาวขึ้น

โดยสารพอลิแซ็กคาไรด์นี้มีอยู่มากในเห็ดที่พบในประเทศแถบตะวันออก เช่น เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดไมตาเกะ เห็ดฟาง เป็นต้น

5. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ไม่ว่าจะเป็นสตรอว์เบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ หรือผลหม่อน นับเป็นศูนย์รวมของสารพฤกษเคมี หลากชนิดซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็ง สารพฤกษเคมีตัวสําคัญคือ กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) และสารแอนโทไซยานิน

มีงานวิจัยเรื่องหนึ่งกล่าวว่า กรดเอลลาจิกและแอนโทไซยานิน ซึ่งมีอยู่ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สามารถชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นักวิจัยทําการทดลองโดยแบ่งหนูทดลองเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งให้กินสารสกัดเข้มข้นจากราสป์เบอร์รี่ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้กินหลังจากนั้นจึงตรวจสอบเซลล์ผิดปกติของหนูทดลอง พบว่าหนูทดลองกลุ่มที่กินสารสกัดเข้มข้นจากราสป์เบอร์รี่มีอัตราการเจริญเติบโตของเนื้องอกน้อยกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้กินถึง 50 เปอร์เซ็นต์

เนื่องจากเชื่อว่า กรดเอลลาจิกมีประสิทธิภาพในการช่วยลดอันตรายจากสารพิษที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายถูกทําลาย ส่วนแอนโทไซยานินมีฤทธิ์เข้าทําลายฟรีแรดิคัลช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายถูกทําลายและ เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติ

รู้อย่างนี้แล้ว ขากลับแวะซุเปอร์มาร์เก็ต เลือกหยิบ  กันให้ไวเลยค่า

เรื่องโดย นิสา

ขอบคุณภาพจาก ฝ่ายภาพนิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.