ไวรัสตับอักเสบซี

‘ ไวรัสตับอักเสบซี ’ ภัยเงียบ ไร้วัคซีน ตรวจรู้ไว รักษาหายขาดได้

‘ ไวรัสตับอักเสบซี ’ ภัยเงียบ ไร้วัคซีน ตรวจรู้ไว รักษาหายขาดได้

หากพูดถึง ไวรัสตับอักเสบซี  หลายคนอาจสงสัยว่าโรคนี้เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไรในการสังเกตตนเอง แล้วอันตรายหรือไม่ วันนี้เรามาไขข้อข้องใจ พร้อมบอกข่าวดี! สำหรับวิธีรักษา และการใช้ยารักษา หากรู้ตัวเร็วและเข้ารับการรักษาเร็ว ทำให้หายขาดได้! แต่ก็กลับมาเป็นใหม่ได้เช่นกัน

โดยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าไปในร่างกายจะแบ่งตัวและอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนมากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดแล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือบริจาคเลือดแล้วพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หากมีอาการแสดงอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลียจากการอักเสบของตับ คลื่นไส้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย โดยทั่วไปประมาณ 70-80% ของผู้ติดเชื้อเฉียบพลันจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อเรื้อรังเนื่องจากไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้  ซึ่งถ้าหากเป็นนานๆ หลายปีอาจมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นในตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมีโอกาสเกิดมะเร็งตับในที่สุด ที่สำคัญการที่จะทราบได้ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้น จะต้องใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะทราบ

สาเหตุการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางเลือดเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติการรับเลือดก่อนปี 2534 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการตรวจกรองหาเชื้อไวรัส ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด การสักด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด การฉีดยากับหมอเถื่อน และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่รักษาด้วยการล้างไต ยิ่งไปกว่านั้นยังพบได้มากขึ้นสำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมกับการติดเชื้อ HIV โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 8–10% และสามารถก่อให้เกิดพยาธิสภาพได้ทั้งภายในตับและภายนอกตับ

ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, ตับ, ตับอักเสบ, ไวรัส

แนวทางการวินิจฉัย และรักษาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

การตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่ายังมีการติดเชื้อในร่างกาย คือการตรวจแอนตี้-เอชซีวี (Anti-HCV) ถ้ามีผลบวกแสดงว่าเคยติดเชื้อไวรัสมาก่อน แต่ไม่สามารถแยกได้ว่ายังมีการติดเชื้อไวรัสในร่างกายหรือหายขาดแล้ว นอกจากนี้ anti-HCV ยังให้ผลบวกลวงได้ด้วย ดังนั้น เมื่อตรวจแอนตี้-เอชซีวี (Anti-HCV) ให้ผลบวกจึงต้องตรวจยืนยันว่ากำลังมีการติดเชื้อจริงโดยการตรวจปริมาณไวรัสในเลือด (HCV RNA) ด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ถ้าตรวจไม่พบปริมาณไวรัสหลังแอนตี้-เอชซีวีให้ผลบวก แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-6 เดือน การตรวจหาปริมาณไวรัสอาจต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการ 3 -14 วัน จากนั้นแพทย์จึงจะวางแผนการรักษา และการตรวจปริมาณไวรัสนี้ยังใช้ติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลว่ารักษาหายขาดหรือไม่

ยารักษาใหม่ ให้ผลการรักษามีโอกาสหายมากกว่า 95%

ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวาณิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ในปัจจุบัน บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2564 ได้มีการอนุมัติการใช้ยาที่สามารถรักษาครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีคือยาสูตรผสม Sofosbuvir/Velpatavir (SOF/VEL) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งไวรัสตับอักเสบซี (Direct Acting Antivirals; DAAs) และมีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้หายขาดสูงถึง 95% จึงสามารถกล่าวได้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ ปัจจุบันยาสูตรนี้อยู่ในสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่เข้าเกณฑ์การรักษาตามประกาศของบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้การดูแลรักษาของอายุรแพทย์สาขาระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ทั่วไปที่ปฏิบัติงานด้านโรคระบบทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี

ความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์ ตรวจคัดกรองรู้ผลใน 2 ชั่วโมง

ในยุคนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็ทำให้มีนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างเครื่อง “อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m)” ใช้ตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สามารถออกผลการทดสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง ได้ผลเร็วขึ้น 3-4 เท่า จากการตรวจรูปแบบเดิม ซึ่งสามารถตรวจร่วมกับการใช้ยาและระบบติดตามการตรวจและรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพและครบวงจร ลดปัญหาการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งโดยไม่จำเป็น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย อีกทั้งทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบัน เครื่องดังกล่าวนำไปใช้ตรวจไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี แล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลรามาธิบดี

สิ่งที่ทำได้ เพื่อต้านไวรัสตับอักเสบซี

หลักสำคัญคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น  หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด คู่สมรสที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถให้นมบุตรได้  ไม่ใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน

ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน

ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน

รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ทานอาหารปรุงสุก ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

ตรวจร่างกายสม่ำเสมอเพื่อประเมินการทำงานของตับอย่างน้อยปีละครั้ง


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้

รู้หรือไม่ มะเร็งตับ ดับชีวิตคนไทย 73 รายต่อวัน พุ่งสูงกว่าโควิด 26 เท่า

ไม่ขี้เหล้า ก็เป็น ตับแข็ง ได้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.