ไวรัสตับอักเสบ ทั้ง บี และ ซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้

ไวรัสตับอักเสบ 2 สายพันธุ์ยอดฮิต ที่ต้องรู้!

ไวรัสตับอักเสบ ไม่ว่าจะ บี หรือ ซี ทั้งสองตัวนี้ เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสลุกลามเป็นโรคเรื้อรังได้ คือติดแล้วไม่หาย ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายทั้งคู่ แถมยังสามารถเป็นโรคติดต่อกันได้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย จึงจำเป็นต้องรู้จัก เพื่อป้องกันตัว และระแวดระวัง

รู้จัก ไวรัสตับอักเสบ B

ตับอักเสบบี เป็นการอักเสบของเซลล์ตับอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตายหากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อได้อย่างไร 

นายแพทย์พูลชัย จรัสเจริญวิทยาผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าไวรัสตับอักเสบบีเป็นดีเอ็นเอไวรัสที่ค่อนข้างทนทาน โดยเชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด มีการติดต่อที่สำคัญ 3 ทาง คือ

1. การติดต่อจากมารดาสู่ทารก

ในอดีตร้อยละ 70 – 90 ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเป็นการติดต่อจากมารดาสู่ทารก ซึ่งโดยมากมักติดเชื้อจากมารดาขณะคลอด ปัจจุบันได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีให้กับทารกแรกคลอดทุกคน ทำให้ลดอัตราการติดเชื้อในทารกลงไปได้มาก

2. การติดต่อโดยเลือด

ส่วนประกอบของเลือด รวมถึง การใช้เข็มฉีดยา การสัก ฝังเข็ม หรือ การเจาะหู ถ้าเลือดหรือเข็มเหล่านั้นปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบบี จะเป็นสาเหตุสำคัญในการติดเชื้อซึ่งมีโอกาสมากกว่าไวรัสเอดส์หลายเท่า

3. ทางเพศสัมพันธ์

โดยทั่วไปถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้มากกว่าไวรัสเอดส์หลายเท่า ส่วนการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไม่ได้เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่อย่างใด

 อาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี อาจมาพบแพทย์ได้ 3 ระยะ คือ

  • ตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตามด้วยคลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวาจากตับที่โตแล้ว จึงสังเกตว่าปัสสาวะเข้ม ตาเหลืองในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 90 – 95 จะหายเป็นปกติ พร้อมกับร่างกายที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี มีเพียงร้อยละ 5 – 10 เท่านั้นที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้ และกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจเกิดอาการตับวายได้
  • ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยพบความผิดปกติในการทำงานของตับ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง หากมีการอักเสบและการทำลายเซลล์ตับมากๆ จะทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพลงจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
  • ตับแข็ง ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์จากอาการแทรกซ้อน เช่น เท้าบวม ท้องบวม อาเจียนเป็นเลือด ส่วนลักษณะอาการของผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งคือ ผอม ผิวแห้ง ผมบาง มีลักษณะขาดสารอาหารร่วมด้วย ในระยะยาวอาจกลายเป็นมะเร็งตับ

การรักษา

  • ตับอักเสบเฉียบพลัน ไม่มีการรักษาเฉพาะ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นเองอยู่แล้ว ควรพักผ่อนตามสมควร รับประทานอาหารให้เพียงพอ การดื่มน้ำหวานปริมาณมากๆ ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น แต่น้ำตาลที่ดื่มเข้าไปมากๆ จะเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมในตับ อาจทำให้ตับโตกว่าปกติได้
  • ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การรับประทานยาบำรุงตับหรือวิตามินไม่มีหลักฐานว่าช่วยลดการอักเสบของตับหรือลดปริมาณไวรัส ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลคือ การรับประทานยาลามิวูดีน (lamivudine) และการใช้อินเตอร์เฟียรอน (interferon) ซึ่งเป็นยาฉีด โดยต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4 – 6 เดือนจึงได้ประโยชน์ ซึ่งราวร้อยละ 30 – 40 จะทำให้การอักเสบของตับลดลง พร้อมกับปริมาณของไวรัสลดลงด้วย เนื่องจากอินเตอร์เฟียรอนมีราคาแพงและมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก การใช้จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น

 การป้องกัน

  1. ควรปฏิบัติตัวโดยการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  2. ควรใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
  3. ก่อนแต่งงานคู่สมรสควรตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  4. ในการรับเลือด ควรหลีกเลี่ยงการใช้เลือดที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  5. ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ทั้งที่ทำจากเลือดและผลิตโดยกรรมวิธีพันธุวิศวกรรม ซึ่งตัวหลังได้รับความนิยมมากกว่า

 ปฏิบัติตัวดี หนีไวรัสตับอักเสบบี

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เพราะยาเกือบทุกตัวจะถูกทำลายที่ตับการใช้ยาต่างๆ จึงควรระมัดระวัง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นตับอักเสบ
  • หมั่นตรวจสุขภาพเสมอ แม้แต่ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ก็ควรได้รับการตรวจเป็นระยะๆ อย่างน้อยทุก 4 – 6 เดือน เพราะบางครั้งจะมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เป็นชายอายุมากหรือมีตับแข็งร่วมด้วยควรติดตามเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหามะเร็งตับระยะเริ่มต้น

อาหาร…ต้านไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบ
  • ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม สตรอว์เบอร์รี่
  • ปลา เพื่อให้ได้วิตามินบี 12
  • ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียวและผลไม้ เพื่อให้ได้โฟเลต

สิ่งที่ควรงด

  • ไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ติดมันและผลิตภัณฑ์นมไขมันครบส่วน
  • น้ำตาลและอาหารหวานจัด
  • ชาและกาแฟ
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • อาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเค็มจัดและอาหารหมักดอง
  • งดสูบบุหรี่

จำไว้ให้มั่นว่า การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอถือเป็นการป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้ดีที่สุด นอกจากนั้นการปฏิบัติตัวตามวิธีการที่กล่าวไว้ข้างต้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง

ไวรัสตับอักเสบ C

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดีอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยมีประวัติการได้รับเลือดก่อน ในกรณีที่เรามักตรวจพบด้วยความบังเอิญ เช่น ในคนไข้อายุเพิ่มขึ้น และเริ่มกลับมาสนใจดูแลสุขภาพ ไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วเจอ พอเราตรวจพบและบอกว่าเขาเป็นไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับเลือด คนไข้มักจะสงสัยว่า เขาเคยมีประวัติรับเลือดมานานมากยังเป็นได้อีกหรือ เราก็บอกว่ายิ่งนานยิ่งใช่ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในร่างกายได้หลายสิบปีโดยไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ออกมา จนกว่าตับจะถูกทำลายไปมากแล้ว

ไวรัสตับอักเสบ

ปัจจุบันทางสภากาชาดไทยและธนาคารเลือดมีการตรวจสอบเชื้อไวรัสตัวนี้ก่อนทุกครั้ง ทำให้โอกาสที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากเลือดของโรงพยาบาลน้อยมาก

นอกจากการติดต่อกันโดยทาง ผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนผู้ที่นิยมการสักทั้งหลายก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน เด็กวัยรุ่นที่ชอบไปสักตามตัว เพราะเข็มที่ใช้สักส่วนใหญ่เขาจะทำความสะอาดโดยการจุ่มลงไปในแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่สามารถฆ่าไวรัสซีได้ เพราะแอลกอฮอล์เวลาใส่ถ้วยไว้ พักเดียวก็ระเหยหมดแล้ว เหลือแต่น้ำ ก็เท่ากับว่าเราเอาเข็มจุ่มน้ำเฉยๆ พอเอามาสักก็อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสได้เช่นเดียวกัน นายแพทย์ทวีศักดิ์เล่าว่าแต่ไวรัสตับอักเสบซีมีอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบกัน

อันตรายของไวรัสตับอักเสบ ซี

โรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน กลับเป็นอันตราย เพราะเราจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าป่วยเป็นโรคนี้ 

ไวรัสตับอักเสบซี ติดแล้วไม่มีอาการ คือ ต่อให้เป็นตับอักเสบเฉียบพลันก็ไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง อาจจะมีเพลียบ้าง คนก็อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหวัด โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นไวรัสตับอักเสบซี

อาการของผู้ป่วย

ไวรัสตับอักเสบ

  1. เมื่อได้รับเชื้อ ระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆเลย หรืออาจจะแค่มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยเท่านั้น
  2. หลังจากไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายระยะหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย) จะทำให้เกิดอาการอักเสบของตับ แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการภายนอกอะไรให้สังเกตเห็น มีเพียงร้อยละ 25 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองที่เรียกว่าดีซ่าน หรือตับอักเสบเฉียบพลัน
  3. นอกจากนั้นเชื้อโรคจะเข้าทำลายตับจนเกิดพังผืด ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เรียกภาวะนี้ว่าตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งพบในผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 60
  4. สำหรับผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซีนั้น ตับจะมีอาการอักเสบและถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง ซึ่งถ้าเป็นมากก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น มีอาการดีซ่าน เป็นต้น
  5. คนที่เป็นตับแข็งนี่ก็คือคนที่ไม่มีอาการนะครับ ถ้าไม่เอาชิ้นเนื้อตรงตับไปตรวจ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะเป็นตับแข็งจนกว่าจะเป็นตับแข็งระยะท้ายๆโน่นถึงจะรู้ ซึ่งตอนนั้นก็จะมีอาการตัวบวม มีน้ำในช่องท้อง เป็นท้องมาน ซึ่งหนึ่งในสามของคนที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีมีโอกาสจะเป็นตับแข็งŽ นายแพทย์ทวีศักดิ์ย้ำถึงภัยเงียบของไวรัสตับอักเสบซีให้ตระหนักรู้อีกครั้ง

นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษา ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า ซึ่งในกรณีนี้นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วหนึ่งในสามของคนที่เป็นตับแข็งซึ่งเกิดจากไวรัสตับอักเสบซีในช่วง 20 – 30 ปีก่อนจะค่อยๆ ทยอยเป็นมะเร็ง

ในด้านมืดย่อมมีด้านสว่าง สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซีแม้จะมีอันตรายร้ายแรงแบบภัยเงียบ คือไม่ส่งสัญญาณเตือนแบบทันทีทันใด แต่โรคนี้ก็มีทางแก้ไข ดังที่นายแพทย์ทวีศักดิ์อธิบายไว้ดังนี้

ความแตกต่างระหว่างไวรัสซีกับไวรัสชนิดอื่นๆ คือ โชคดีที่ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสตัวเดียวในร่างกายมนุษย์ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะไม่กลับมาเป็นอีก ยกเว้นกลับไปรับเชื้อมาใหม่

ไวรัสตับอักเสบ ซี รักษาได้

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี คือ ยากิน บวกกับยาฉีดสัปดาห์ละหนึ่งเข็มเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยในระยะแรกคนไข้อาจมีอาการปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายเป็นไข้หวัด แต่เมื่อร่างกายปรับตัวได้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น

แม้โรคไวรัสตับอักเสบซีจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ หากไม่ต้องการให้อาการกำเริบมากขึ้น นายแพทย์ทวีศักดิ์ มีข้อแนะนำในการดูแลตัวเองดังนี้

  • ออกกำลังกายตามสมควร ในอดีตเรามักเข้าใจกันว่าเป็นโรคเกี่ยวกับตับห้ามออกกำลังกาย ทั้งที่ความจริงสามารถทำได้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย โดยเลือกประเภทกีฬาที่ไม่หนักเกินไป เช่น เดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ขี่จักรยาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวานมากๆ เพราะการดื่มน้ำหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้ตับพังเร็วขึ้นพร้อมกันนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะยิ่งเป็นตัวเสริมให้มีอาการไขมันเกาะตับ
  • หลีกเลี่ยงยาที่อาจมีสารพวกสเตียรอยด์ เช่น ยาลูกกลอน ยาปฏิชีวนะบางประเภท ซึ่งสารสเตียรอยด์เป็นเหมือนอาหารชิ้นสำคัญที่ทำให้เชื้อไวรัสในร่างกายกำเริบเร็วขึ้น นอกจากนี้เมื่อเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล ควรแจ้งหมอทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวคือไวรัสตับอักเสบซี
  • งดสารที่มีส่วนทำลายตับ โดยเฉพาะสุราและบุหรี่ เพราะอบายมุขเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมที่ช่วยให้ไวรัสตับอักเสบซีทำร้ายตับมากขึ้น ทั้งยังทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

การป้องกันไวรัสตับอักเสบซี

อย่างที่ทราบกันดีว่าไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางเลือด ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามคำแนะนำของนายแพทย์ทวีศักดิ์ ดังนี้คือ

  1. หลีกเลี่ยงการสัก เจาะตามร่างกาย การสัก เจาะแต่ละครั้ง แม้จะใช้เข็มชุบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเข็มนั้นสะอาดพอ
  2. หลีกเลี่ยงการใช้มีดโกนหนวดที่ตัดเล็บ แปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงต้องใช้ถุงมือทุกครั้งหากต้องมีการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง ของผู้อื่น
  3. ไปตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อจะได้รู้ว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่หรือไม่หากพบจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ไวรัสตับอักเสบ ชนิดอื่นๆ

  • ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยมีอาการสำคัญคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบเอไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงแต่อย่างใด หากผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการจะดีขึ้นภายในเวลา 2 – 6 เดือน
  • ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่มีลักษณะเหมือนปูเสฉวน กล่าวคือไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถอยู่ด้วยตัวของมันเอง ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี ด้วยเหตุนี้คนที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบีจึงจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบดีไปด้วย เมื่อได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไวรัสตับอักเสบบี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอาการอับเสบของตับที่รุนแรงขึ้น
  • ไวรัสตับอักเสบอี เป็นไวรัสตับอักเสบอีกชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด หลังจากได้รับเชื้อจะมีอาการปวดท้อง ตัวเหลือง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสโรคตับอักเสบชนิดนี้ แต่สามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

จาก คอลัมน์โรคภัยใกล้ตัว นิตยสารชีวจิต ฉบับ 132 และ คอลัมน์รายงาน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 228


บทความน่าสนใจอื่นๆ

รู้ยัง! ถ้าป่วย ตับแข็ง จะมี “อาการร้ายๆ” เหล่านี้ตามมา

อาหารดี ช่วยตับแข็งแรง

HOW TO กินอาหารน้ำตาลต่ำช่วยป้องกัน ไขมันพอกตับ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.