นายแพทย์พิทยา ภมรเวชวรรณ แนะให้พ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ช่วยกันสังเกตความผิดปกติ ดวงตาของเด็ก หลังคลอด หากพบความผิดปกติต้องรีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษาให้เร็วที่สุด ดังนี้

ดวงตาของเด็ก
- มีน้ำตาไหลเอ่อตลอด มีขี้ตามาก ตาแดง ดวงตาติดเชื้อบ่อย ๆ
- แก้วตาหรือเลนส์ตามีสีขาวขุ่น
- หนังตาบวม ขนาดลูกตาใหญ่หรือเล็กผิดปกติ
- รูม่านตาไม่เท่ากัน
- สีของม่านตาผิดปกติ
- หนังตาตก
- ตาเหล่ ตาเข
- มีพฤติกรรมเอียงหรือหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งบ่อย ๆ

เด็กหลังคลอดที่โตขึ้นจนมีอายุ 2 – 3 เดือนขึ้นไป หากยังไม่มองหน้าแม่ หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม แปลว่าเด็กอาจมีปัญหาการมองเห็น ต้องรีบพาเด็กไปให้จักษุแพทย์ตรวจโดยละเอียด
กรณีเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปี นายแพทย์พิทยาอธิบายว่า ควรได้รับการตรวจดวงตา เพื่อหาภาวะสายตาผิดปกติต่าง ๆ เช่น ตาเข ตาขี้เกียจ ซึ่งถ้าตรวจพบได้ในวัยเด็กเล็กแล้วรีบรักษา จะได้ผลดีกว่าปล่อยทิ้งไว้จนถึงวัยประถม
กรณีเด็กประถม อายุ 6 – 12 ปี หากผู้ปกครองพบว่าเด็กมีพฤติกรรมดูหนังสือ ดูโทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ใกล้มากผิดปกติประกอบกับพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น เอียงคอมอง หยีตามอง กะพริบตาบ่อย อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กมีปัญหาทางสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสาเหตุอื่น ผู้ปกครองต้องพาเด็กตรวจกับจักษุแพทย์ทันที
แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ อธิบายว่า ช่วงอายุ 13 – 29 ปี เป็นวัยเรียนต่อกับวัยทำงาน อาจไม่พบโรคตามากนัก นอกจากในบางรายที่มีอาชีพที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อมาช่วงอายุ 30 – 39 ปี เป็นวัยสายตาเริ่มเปลี่ยนแปลงจากความเสื่อมของดวงตา ดังนั้นในช่วงวัยนี้จึงควรได้รับการตรวจตาปีละ 2 ครั้ง
เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพ iStock
ชีวจิต 535 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 23 16 มกราคม 2564
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ว่าด้วยดวงตา กับการ ติดเชื้อโควิด-19 ดูแลอย่างไรดี