Stroke

โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร

โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ

สมองเสียหายมากกว่าที่คิด

หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลให้สมองเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้

สมองซีกซ้าย: อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา, ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษา และการกลืน, สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง, เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง

สมองซีกขวา: อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย, สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง, สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่วางแผน, เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง

ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย

 

ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

ไม่เพียงแต่ผู้สูงวัย แม้แต่วัยรุ่นก็อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วยสาเหตุที่ต่างกัน โดยโรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จาก  3 สาเหตุหลัก ๆ โดย 80% เกิดจาก

หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ถึง 80% เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ โรคที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในหลอดเลือด โรคอ้วน เพราะคนอ้วนจะสัมพันธ์กับการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็ก ๆ ในสมอง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต สาเหตุอื่น ๆ ที่พบในวัยรุ่น เช่น  กีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรง ๆ อาจทำให้หลอดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมป์ หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งพบได้มากขึ้นในคนไข้กลุ่มวัยรุ่น มักมีอาการปวดคอมาก อ่อนแรงครึ่งซีก หรือช่วงน้ำท่วมมีอาสาสมัครช่วยแบกกระสอบที่คอแล้วอ่อนแรงไปซีกหนึ่ง เป็นต้น

นอกจากนี้อาการของหลอดเลือดสมองยังมีหลอดเลือดดำอุดตันด้วย เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะมาด้วยอาการชักคล้ายหลอดเลือดแดงอุดตัน

เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) เป็นสาเหตุที่เกิดได้ 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง  ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง

 

แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ควรป้องกันก่อนการเกิดโรคและควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการ ตีบ อุดตัน หรือแตก โดยมีแนวทางการป้องกันโรค ดังนี้

-ปรับระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ

-หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง

-เลิกสูบบุหรี่

-ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน

-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

-รับประทานผลไม้และผักให้มากยิ่งขึ้น

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

-ลดการดื่มสุรา

-เข้ารับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

-หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองและผ่านการรักษาโดยแพทย์จนพ้นวิกฤติแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอไม่ปรับยาและหยุดยาเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาหรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำ

เมื่อมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้ว รีบไปพบแพทย์ด่วน เพราะโรคนี้เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นหากมีอาการปากเบี้ยว แขนขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ให้ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา และเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการและเสียชีวิตได้

ข้อมูลประกอบจาก: bangkokinternationalhospital

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กินอย่างไรช่วยให้โรคดีขึ้น ปลอดภัย

สังเกตอาการอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง?

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง สู่ อัมพาตในผู้สูงวัย!

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.