เหงือกบวม บวมแบบไหน อาการแบบใด ที่เราต้องรีบไปพบทันตแพทย์
เหงือกบวม เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน คนส่วนใหญ่มักมีอาการเหงือกอักเสบ เหงือกบวมแดง เมื่อแปรงฟันจะรู้สึกเจ็บและมีเลือดออกตามไรฟัน ทำให้มีกลิ่นปาก หากไม่รีบรักษา อาจนำไปสู่อาการอักเสบเรื้อรังที่รุนแรงขึ้นได้ ซึ่งบางครั้งอาการเหงือกบวมก็สามารถหายได้เอง แต่ยังมีเหงือกบวมแบบที่เราต้องรีบพบแพทย์อีกด้วย
สาเหตุของเหงือกบวม เกิดจากอะไร?
เหงือกบวม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่ตามขอบเหงือก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเศษอาหารที่ติดตามซอกฟัน หากมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สูบบุหรี่ หรือผู้หญิงมีครรภ์ที่ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ ก็จะยิ่งทำให้เหงือกมีอาการอักเสบและบวมมากยิ่งขึ้นได้
อักเสบแบบไหน ควรไปพบทันตแพทย์
โรคเหงือกบวมมีหลายแบบ หากไม่รุนแรงก็สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพในช่องปาก แต่บางรายอาจมีอาการอักเสบที่ส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร และการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยหากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้อง
- เหงือกอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากหินปูนสะสมในช่องปาก ทำให้เหงือกโดยรอบมีอาการอักเสบ ส่งผลให้มีกลิ่นปาก และเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน ทางที่ดีควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาและดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี
- เหงือกบวมเป็นหนอง ในผู้ป่วยรายที่มีอาการเหงือกบวมและอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้รักษา เหงือกจะเริ่มบวมแดง และเกิดหนองไหลออกจากขอบเหงือก เป็นสัญญาณอักเสบรุนแรงที่ไม่ควรละเลย ควรรีบไปพบทันตแพทย์
- เหงือกบวมฟันกราม การปวดเหงือกบริเวณฟันกรามมีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ฟันคุด ฟันกรามผุ ฟันแตก และเหงือกอักเสบ ทำให้รู้สึกปวดและระคายเคือง เป็นอุปสรรคต่อการเคี้ยวอาหาร
- เหงือกบวมเป็นตุ่ม หากเหงือกเป็นตุ่มแดงเล็กๆ เมื่อปล่อยไว้นานจะเริ่มมีหนองไหลออกมา อาจเกิดจากฟันผุที่ลึกถึงโพรงประสาทฟัน เป็นอาการที่ควรพบทันตแพทย์เพื่อหาทางรักษา ก่อนจะนำไปสู่อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- เหงือกบวมจากกระดูกงอก สังเกตว่าหากเหงือกมีตุ่มที่มีลักษณะขาวซีด เป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัญญาณของกระดูกที่พยายามดันเหงือกโผล่ขึ้นมา ทำให้เหงือกบวม รู้สึกปวด และอักเสบในที่สุด อาการเช่นนี้ไม่ควรลังเลใจ ควรรีบไปพบทันตแพทย์
- เหงือกบวมจากผลข้างเคียงของยา บางครั้งอาการเหงือกบวมก็อาจเกิดจากการแพ้ยาบางชนิด หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ทำให้บริเวณเหงือกบวมแดงมากกว่าปกติ ควรนำยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินอาการต่างๆ
วิธีรักษาอาการเหงือกบวม
ผู้ที่มีภาวะเหงือกบวมควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาวะในปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ ทั้งการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี เพื่อกำจัดแบคทีเรียในช่องปากและคราบจุลินทรีย์จากเศษอาหารที่ติดค้างตามซอกฟัน
ส่วนการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ควรงดสูบบุหรี่ ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ งดอาหารที่มีรสหวานจัด รวมถึงการไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากโรคเหงือกบวมและเหงือกอักเสบ สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
สำหรับผู้ที่เหงือกบวมไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้น้ำแข็งประคบ และรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงขึ้น ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบมาใช้เอง แต่แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี