ผักติ้ว

ผักติ้ว ผักพื้นบ้านไทย กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย

ผักติ้ว คนไทยมักนิยมเด็ดยอดอ่อน และใบมาทำอาหาร หลายคนอาจเรียกว่า ผักแต้ว ซึ่งยางและใบ สามารถใช้เป็นยาสมุนไพร ขณะที่เปลือกไม้ใช้เป็นสีย้อมผ้า และใช้ทำเป็นถ่าน

สรรพคุณของผักติ้วทางสมุนไพร

ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้บรรยายสรรพคุณของผักติ้วไว้ตามตำรับยาไทย ดังนี้

  • ราก ผสมกับหัวแห้วหมู และรากปลาไหลเผือก ต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เพื่อขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด
  • น้ำยาง ใช้ทาแก้รอยแตกของส้นเท้า
  • รากและใบ ใช้แก้ปวดท้อง
  • ต้น ยางจากเปลือกต้น ยาทาแก้คัน
  • น้ำต้มเปลือกต้น กินแก้ธาตุพิการ
  • เปลือกและใบ ตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้โรคผิวหนังบางชนิด

ผักติ้วกินอย่างไร

ส่วนประกอบของผักติ้วที่นำมาใช้ประกอบอาหาร คือ ช่อดอกสด ยอดอ่อน ใบ ใบอ่อน เพราะมีรสชาติเปรี้ยว ซึ่งให้คุณประโยชน์ด้านเส้นใยอาหาร และวิตามิน ดังนี้

ใช้เป็นผักแกล้ม ยอดอ่อนสดๆ นำมากินแกล้มกับเมนู ลาบ ก้อย น้ำตก แจ่ว เมนูน้ำพริก ทางเวียดนามใช้กินในเมนูแหนมเนือง

ใช้ต้มแกง ผักติ้วมีรสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวในบางเมนู เช่น แกงเห็ด

ใช้ผัด ใส่กับไข่เจียว หรือผัดกับผักอื่นๆ เพิ่มรสชาติ

นอกจากนี้ สรรพคุณทางด้านโภชนาการก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ผักติ้วปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานถึง 58 กิโลแคลอรี แล้วยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารและวิตามิน ดังนี้ คือ

  • แคลเซียม 67 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
  • เบตาแคโรทีน 4,500 ไมโครกรัม
  • ไนอาซิน 3.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 750 ไมโครกรัมของเรตินอล
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 58 มิลลิกรัม
  • เส้นใยอาหาร

เกร็ดความรู้! สารสกัดจากผักติ้ว

สกัดสารจากใบติ้วเพื่อต้านมะเร็ง” ผลงานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ค้นพบศักยภาพในการต้านมะเร็ง จาก “ใบติ้ว” ผักพื้นบ้านชาวอีสาน โดย รศ. ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ได้ค้นพบจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาคุณค่าของสารสกัดสมุนไพร จากพืชในพื้นที่โคกภูตากา อ.ภูเวียง ต่อการป้องกันโรคมะเร็ง” แม้ผลการทดลองในเบื้องต้นจากพบว่าใบผิ้วมีฤทธิ์ “ต้านมะเร็งตับ” แต่ก็ควรกินอย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป

ข้อมูลจาก องค์การสวนพฤกษศาสตร์, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กรมวิชาการเกษตร

บทความอื่นที่น่าสนใจ

น้ำเอนไซม์ สับปะรด ต้านมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หลุมพรางความรู้สึก

3 สมุนไพรช่วยนอนหลับ ปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.