2 วิธีธรรมชาติสยบโรค สะเก็ดเงิน
โรค สะเก็ดเงิน เป็นโรคที่สร้างความลำบากให้ผู้ป่วยทั้งด้านจิตใจและร่างกาย บั่นทอนคุณภาพชีวิต บุคลิกภาพ และบางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการเข้าสังคม แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคนี้อยู่ ไม่ยากค่ะ
ถ้าเช้าวันหนึ่งลืมตาตื่นแล้วพบว่าหนังศีรษะของคุณลอกเป็นขุยๆ จากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมาผิวหนังเริ่มมีสะเก็ดสีขาวหลุดลอกทั่วร่างกาย นั่นอาจแสดงว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน นอกจากไม่กล้าเข้าสังคมเพราะกลัวคนทั่วไปรังเกียจ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคติดต่อแล้ว ผู้ป่วยต้องทนทุกข์กับรอยโรคทั่วทั้งตัว มิหนำซ้ำหมอยังฟันธงให้ช้ำใจอีกว่าสะเก็ดเงินไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยหลายท่านจึงทำได้เพียงดูแลสุขภาพเพื่อประคองไม่ให้อาการกำเริบ
ชีวจิต ขอเสนอ 2 ประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มีวิธีกำราบโรคได้สำเร็จมาแล้ว
ลดน้ำหนักลดการกำเริบ
คุณนวลใย เชื้อคำ อายุ 44 ปี เข้ารับการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่โรงพยาบาลศิริราช และได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้ลดน้ำหนักเพื่อคุมอาการ
“ดิฉันเป็นโรคสะเก็ดเงินตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ใช้ทั้งยากินและยาทาตามที่หมอสั่ง อาการก็ดีขึ้น แต่ไม่เห็นผล 100 เปอร์เซ็นต์จนประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ทางโรงพยาบาลศิริราชจัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแข่งขันลดน้ำหนักเพื่อช่วยในการรักษาโรค ซึ่งดิฉันเป็นผู้ชนะของงานนี้ค่ะ
“ก่อนหน้านี้ดิฉันไม่ออกกำลังกายเลย แต่เมื่อลงชื่อแข่งขันลดน้ำหนัก สิ่งแรกที่คิดคือ ต้องออกกำลังกายบ้างแล้วนะ
“หลังเลิกงานดิฉันไปวิ่งที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน แต่วิ่งได้ไม่กี่สัปดาห์ก็รู้สึกปวดเมื่อยตัว จึงเปลี่ยนมาวิ่งบนลู่ในฟิตเนสแทนค่ะ ซึ่งดิฉันคิดว่าวิธีนี้เหมาะกับตัวเอง การวิ่งบนลู่ให้ความรู้สึกนุ่มกว่าพื้นถนน ทำให้วิ่งได้เร็วและนานขึ้น แถมยังไม่ค่อยปวดเข่าอีกด้วย
“ทุกวันนี้วิ่งวันละ 45 นาที หากไม่ได้ไปฟิตเนสก็จะวิ่งเหยาะ ๆ อยู่ที่บ้านวันละ 10 นาที จากนั้นจึงเล่นฮูลาฮูปต่ออีกครึ่งชั่วโมง”
นอกจากนี้คุณนวลใยยังควบคุมอาหารในแต่ละมื้อ โดยเน้นกินผักต้มและปลาทะเลนึ่งเป็นประจำ รวมทั้งงดน้ำอัดลมและนมโดยเด็ดขาด
“จากน้ำหนัก 68 กิโลกรัม ตอนนี้เหลือเพียง 64 กิโลกรัมรูปร่างกระชับขึ้น รอยโรคลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยาแผนปัจจุบันที่หมอให้ก็ใช้ได้ผลดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีครอบครัวที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจ ที่รู้ว่าสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อและไม่แสดงท่าทางรังเกียจ กำลังใจจากคนใกล้ตัวนี้จะช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยดีขึ้นได้ และคุณหมอมักย้ำกับดิฉันว่า เมื่อไม่เครียด อาการก็จะดีขึ้นค่ะ”
แพทย์หญิงลีนา จุฬาโรจน์มนตรี ภาควิชาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช อธิบายเรื่องน้ำหนักตัวของผู้ป่วยที่ส่งผลต่อโรคสะเก็ดเงินว่า
“ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้น และมีงานวิจัยยืนยันด้วยว่าน้ำหนักตัวที่ลดลงจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงตามด้วย
“นอกจากนี้โรคสะเก็ดเงินยังมีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง นั่นเพราะสะเก็ดเงินมีกลไลของการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย จึงส่งผลเชื่อมโยงไปสู่โรคต่าง ๆ และสิ่งนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยต้องควบคุมน้ำหนัก”