เสริมหน้าอกให้นมลูก

เสริมหน้าอกให้นมลูก ปลอดภัยหรือหายนะ

เสริมหน้าอกให้นมลูก ปลอดภัยหรือหายนะ

 

เสริมหน้าอกให้นมลูก เป็นหนึ่งในคำถามที่ถามกันเข้ามาบ่อยจากบรรดาคุณแม่มือใหม่ที่เคยทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก รู้สึกกลัว ไม่มั่นใจ ว่าหน้าอกซิลิโคนจะมีผลกับน้ำนมหรือไม่ วันนี้มีคำตอบจาก คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข เป็นสูติ- นรีแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร ค่ะ

คำถาม :

เรียนคุณหมอชัญวลี ดิฉันกำลังเตรียมตัวมีลูกค่ะ แต่เพิ่งผ่านการผ่าตัดเสริมเต้านมมา จึงกังวลว่าอุปกรณ์ที่ใส่มาในเต้านมมีผลต่อการสร้างน้ำนม และทำให้มีน้ำนมน้อยหรือไม่ นอกจากนี้ดิฉันควรเตรียมตัว หรือจัดการดูแลเต้านมของตัวเองอย่างไร เพราะอยากให้ลูกได้กินนมแม่ค่ะ

คำตอบ :

ปัจจุบันผู้หญิงเสริมเต้านมเพื่อความสวยงามกัน มากขึ้น แม้ไม่ได้ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการบันเทิงเหมือนสมัยก่อน จนการผ่าตัดเสริมเต้านมเป็นการผ่าตัดเสริมสวยที่พบมากที่สุด คนไข้หลายคนที่มาฝากครรภ์  แม้มีการตรวจเต้านมตามมาตรฐาน  แต่หากไม่บอกว่าไปเสริมเต้านมมา บางทีหมอก็ไม่รู้  เพราะปัจจุบันแพทย์ไทยที่ผ่าตัดเสริม เต้านมฝีมือดีมาก  และสารที่ใช้เสริมเต้านมก็มีลักษณะ เหมือนธรรมชาติ  หากไม่ทำให้ใหญ่โตเกินไป

แม้จะทั้งดูทั้งคลำแล้วก็แทบไม่รู้เลยว่าไปเสริมมา อย่างไรก็ตาม  คุณแม่หลายคนที่มาฝากครรภ์จะ บอกแต่เนิ่นๆว่าไปเสริมเต้านมมา  เพราะส่วนใหญ่เกรงปัญหาเรื่องการให้นมลูก

อ่านต่อหน้าที่ 2

 

คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังคิดจะเสริมเต้านม 

หากเป็นไปได้ควรมีลูกให้เรียบร้อยก่อนจึงเสริมเต้านม  เนื่องจากอาจมีปัญหาในการให้นมลูกดังนี้ค่ะ

เสริมหน้าอก, เสริมหน้าอกให้นมลูก

  1. ปัญหานมคัดตึงตอนตั้งครรภ์และตอนให้นมลูก เนื่องจากการผ่าตัดเสริมเต้านมอาจมีการทำลายต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม  เส้นเลือด  เส้นประสาทบ้าง  โดยเฉพาะแผล ผ่าตัดที่อยู่ใต้ลานนม  รวมทั้งการเพิ่มปริมาตรนมจากสารที่เสริม  ทำให้ขณะตั้งครรภ์และตอนให้นมลูก นมอาจบวมคัดตึง  รู้สึกไม่สบายมากกว่าปกติ
  2. ปริมาณของน้ำนม  โดยทั่วไปปริมาณของน้ำนมจะไม่ลดลง  หากลูกได้ดูดนมตั้งแต่หลังคลอด  ดูดทุก 2 ชั่วโมงหลังช่วงคลอดใหม่ๆ  และอมหัวนมจนมิดลานนมอย่างถูกวิธี  แต่ในแม่บางรายที่เสริมเต้านมอาจรู้สึกชาหัวนมเมื่อลูกดูดนม  นอกจากนี้ปฏิกิริยาของ ระบบประสาทที่กระตุ้นให้นมไหลพุ่งออกจากหัวนมอาจลดลง  จึงทำให้นมไหลน้อยลง
  3. ความสำเร็จในการให้นมแม่  พบว่าโอกาสให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในคนที่เสริมเต้านมประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนที่ไม่เสริมเต้านมถึง 3 เท่า  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ใช่การเสริมเต้านมเพียงอย่างเดียว  แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ  เช่น

3.1 แม่ที่เสริมเต้านมมีความตั้งใจในการให้นมลูกน้อยกว่าคนไม่เสริมเต้านม  โดยงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า  ผู้หญิงที่เสริมเต้านมมักเป็นผู้หญิงอายุน้อย ฐานะดี  สุขภาพแข็งแรง  แต่งงานแล้ว  มีลูกแล้ว  มีความวิตกกังวลกับรูปลักษณ์ของตนเอง  บางคนมีบุคลิกภาพเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ  ซึมเศร้า  เครียดง่าย รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าและความมั่นใจ

3.2 เกรงว่าสารที่เสริมเต้านมจะทำอันตรายต่อลูก ในที่นี้คือซิลิโคนเหลว  ซึ่งแม้แต่ตัวแม่เองก็มีรายงานว่า อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้เพิ่มขึ้น  จึงมีความกังวลว่า  หากเกิดการรั่วหรือแตกอาจเป็นอันตรายต่อลูกที่ดูดนมจากเต้า  โดยมีรายงานว่า  หากแม่เสริมเต้านมและมี ซิลิโคนรั่ว  ลูกก็มีโอกาสเป็นภูมิแพ้และอาจมีปัญหาที่หลอดอาหารสูงกว่ารายที่แม่ไม่ได้เสริมเต้านม  แต่เมื่อทบทวนงานวิจัยแล้ว  ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกและแม่แต่อย่างใด

3.3 เกรงว่าหน้าอกที่ไปทำมาจะหย่อนคล้อยหากให้นมลูก แม้มีงานวิจัยยืนยันว่า  แม่ที่เสริมเต้านมแล้วให้นมลูก  เต้านมจะหย่อนคล้อยเท่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เสริมเต้านม  เพราะตอนตั้งครรภ์นั้นหน้าอกจะขยายและตึงมาก  หลังคลอดจึงหย่อนคล้อยกว่าเดิมเป็นเรื่องธรรมดา

3.4 อาการผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อนหลังการเสริมเต้านม  เช่น  มีการอักเสบติดเชื้อ  เจ็บแผลเป็นที่ผิวหนัง  หัวนมเต้านมชาไม่มีความรู้สึกหรือมีความรู้สึกไวต่อความเจ็บปวด  สารที่ใช้เสริมแตกหรือรั่ว  ซึ่งยิ่งเสริมมานานก็ยิ่งมีโอกาสแตกหรือรั่วสูงขึ้น

แม้มีปัญหาบ้างดังที่กล่าวมา แต่คำยืนยันจากแพทย์ คือ แม่ที่เสริมเต้านมสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ไม่ต่างจากแม่ที่ไม่ได้เสริมเต้านม โดยมี

ให้นมลูก, เสริมหน้าอกให้นมลูก

ข้อแนะนำสำหรับแม่ที่เสริมเต้านมที่ต้องการให้นมลูก

ดังนี้ค่ะ

  • ให้มั่นใจถึงประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อลูกและแม่อย่างมหาศาล  เช่น  มีสารอาหารครบถ้วน  ลดการเกิดภูมิแพ้และเสริมภูมิต้านทานโรคให้ลูก  สร้างสายใยรักและความผูกพันระหว่างลูกกับแม่  ลดอัตราการเจ็บป่วยและช่วยให้ลูกฉลาดแข็งแรง  นอกจากนี้ยังทำให้มดลูกแม่เข้าอู่เร็ว  ทำให้แม่ไม่อ้วน  เป็นต้น
  • มั่นใจว่าปริมาณน้ำนมเพียงพอแน่  การเสริมเต้านมไม่มีอันตรายใดๆต่อแม่และลูกจากการให้นมแม่
  • แม่ควรดูแลตนเองให้แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งกายและใจ  ไม่ให้ขาดอาหารและเครียด  หากมีปัญหาเต้านมและหัวนม  ควรปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์เพื่อแก้ไขก่อนคลอดลูก
  • คุณพ่อและญาติๆควรสนับสนุนแม่ในการให้นมลูกด้วยการไม่พูดเรื่องการเสริมเต้านมกับการให้ นมลูกในทางลบ  ขณะแม่ให้นมลูกควรให้กำลังใจ ปลอบโยน  กล่าวคำชมเชย  ช่วยเหลือในการดูแลลูก เพื่อให้แม่ไม่เครียดและพักผ่อนเพียงพอในช่วงให้นมลูก ขอให้มั่นใจว่าการให้นมเป็นของขวัญที่ดีที่สุด ที่แม่จะมอบให้ลูกได้

หากมีข้อสงสัยหรืออาการผิดปกติ อื่น ๆ สามารถปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์เพิ่มเติม ได้ค่ะ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

3 การรักษา 7 วิธีป้องกัน เริมที่ปาก

เรื่องต้องรู้ ก่อนไปตรวจ ความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก

ตรวจมะเร็งเต้านม …ภัยคุกคามหญิงไทยในปัจจุบัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.