เรื่องที่คุณต้องรู้ เมื่อ ใส่คอนแทคเลนส์
สาวทำงานวัย 30 ต้นๆ บอกถึงเหตุผลที่เปลี่ยนจากการใส่แว่นมา ใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับอีกหลายคน “ช่วงแรกใส่แว่นตาค่ะ แต่ไม่ชอบเลยเวลาเดิน วิ่ง หรือเล่นกีฬา แว่นตาชอบเลื่อนลงมา และเวลาใส่แว่นไม่ชอบหน้าตัวเองเลยค่ะ มันตลกๆ ยังไงก็ไม่รู้” คนไทยจำนวนมาก เลือกที่จะแก้ปัญหาสายตาด้วยการใส่คอนแทคเลนส์ เพราะความสะดวกสบาย ที่เมื่อใส่แล้วดูเป็นธรรมชาติและมองเห็นชัดเจนตลอดเวลา แต่ข้อควรระวังก็มีอยู่ไม่น้อย คุณรู้หรือไม่
ปรึกษาจักษุแพทย์
ไม่ว่าจะเป็นเพราะความสะดวกสบายหรือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ เริ่มใส่คอนแทคเลนส์ ตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะเริ่มใส่ โดยไม่ไปปรึกษาจักษุแพทย์
นพ.คำนูณ อธิภาส จักษุแพทย์ประจำคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา บอกว่า
“จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้เริ่มต้นใส่ต้องมาพบแพทย์ก่อน ทั้งนี้เพื่อตรวจสภาพของสายตาว่าเหมาะสมกับการใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่ การประเมินว่าจะใส่ได้หรือไม่นั้น
ต้องพิจารณาตั้งแต่สภาพของดวงตาว่าเป็นคนที่มีอาการตาแห้งผิดปกติหรือไม่ เพราะโดยสภาพของคอนแทคเลนส์ จะใช้น้ำตาจากดวงตาเรานี้
เป็นสารหล่อลื่นให้ตัวเลนส์ติดอยู่กับกระจกตาและต้องมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงความโค้งของกระจกตา
เพื่อกำหนดขนาดที่เหมาะสมของคอนแทคเลนส์ ฉะนั้นคนที่มีตาโปนผิดปกติ หรือเวลานอนหลับตาไม่สนิทก็อาจจะไม่เหมาะสมกับการใส่”
“ขนาด” เรื่องที่ไม่ควรละเลย
ส่วนใหญ่เวลาไปซื้อคอนแทคเลนส์ ผู้ใช้มักไม่สนใจขนาดที่มีระบุอยู่ข้างกล่อง ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพของคอนแทคเลนส์
นพ.คำนูณกล่าวว่า
“คอนแทคเลนส์ที่วางขายตามท้องตลาดนั้น โดยทั่วไปสังเกตได้ง่ายๆ บนหน้าซองบรรจุเลนส์จะมีตัวอักษร B.C. ซึ่งย่อมาจาก Base Curve หมายถึงรัศมีความโค้งด้านหลังของเลนส์ชิ้นนั้น ที่เป็นด้านที่ต้องแนบสัมผัสกับกระจกตาของเรา
ยกตัวอย่าง เช่น เลนส์ที่ระบุว่ามี B.C. 8.8 มิลลิเมตร นั่นแปลว่าเลนส์ชิ้นนั้นถูกสร้างให้แบนกว่าเลนส์ที่มี B.C. 8.4 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลให้เลนส์ B.C. 8.4 ติดแน่นและบีบรัดดวงตามากกว่า จึงเหมาะสมกับคนที่มีกระจกตาโค้งมากส่วนเลนส์ B.C. 8.8 จะหลวม เลื่อนได้มากกว่า จึงเหมาะสมกับผู้ที่มีกระจกตาโค้งน้อย”