แก้กรดไหลย้อน

3 พฤติกรรมต้องห้าม เสี่ยงกรดไหลย้อน

ป้องกันกรดไหลย้อน ด้วยการเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งอัตราของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นยิ่งทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า กรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร  ชีวจิต ขอแนะนำวิธี ป้องกัน กรดไหลย้อน โดยการหลีกเลี่ยงไลฟ์สไตล์ที่จะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้กันค่ะ

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

รองศาสตราจารย์ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ภาควิชาสรีรวิทยา  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสาเหตุของโรคว่า

“สาเหตุหลักของโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการทำงานของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง  เช่น  มีการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทั้งที่ไม่มีการกลืน  หรือเกิดจากความดันในหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง  ทำให้ไม่สามารถต้านแรงดันในช่องท้องและการบีบตัวของกระเพาะอาหารได้”

“นอกจากนี้ยังพบว่า  โรคกรดไหลย้อนมีความสัมพันธ์กับความอ้วน  โรคเบาหวาน  และโรคไส้เลื่อนกระบังลมซึ่งสิ่งที่จะทำให้อาการของโรคกำเริบมากหรือน้อยนั้น  ขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำรงชีวิตของแต่ละคน”

โรคกรดไหลย้อน, แก้กรดไหลย้อน, กรดไหลย้อน, สาเหตุของกรดไหลย้อน, พฤติกรรมเสี่ยงกรดไหลย้อน
กินอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ ทำให้โรคกรดไหลย้อนกำเริบได้

3 พฤติกรรมต้องห้าม  ทำโรคกำเริบ

สำหรับวิธีการเยียวยาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน  ในช่วงแรกคุณหมออาจให้กินยาเพื่อแก้อาการราว 1 – 3 เดือน  แต่หลังจากนั้นวิธีป้องกันและรักษาโรคได้ดีที่สุดคือ  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  รองศาสตราจารย์ดร.สุจิตราอธิบายพฤติกรรมต้องห้ามที่ทำให้อาการกำเริบไว้ในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน  โดยคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ดังนี้

1. การกิน

การกินเป็นปัญหาสำคัญของผู้มีอาการกรดไหลย้อน รองศาสตราจารย์ดร.สุจิตราแนะนำการกินที่ไม่ถูกต้องไว้ดังนี้

  • กินมากไป  การกินอาหารปริมาณมากเกินไปในแต่ละมื้อ  นอกจากจะทำให้คุณอ้วนแล้ว  ภาวะน้ำหนักเกินนี้จะส่งผลให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น  ทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบมากขึ้น ดังนั้นควรกินอาหารครั้งละน้อยๆ  แต่บ่อยครั้งขึ้น
  • กินของทอด  บรรดาของทอดและอาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมากผัด  จะทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง  ส่งผลให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
  • ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และสุรา  เครื่องดื่มเหล่านี้นอกจากจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว  ยังทำให้หูรูดคลายตัวง่ายอีกด้วย
  • กินยาแก้ปวดเป็นประจำ  เนื่องจากยาแก้ปวดสามารถกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร  นอกจากนี้ ยาแก้ปวดยังขึ้นชื่อลือชาเรื่องกัดกระเพาะอาหารอีกด้วย
  • กินยาไม่เป็นเวลา การกินยา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารหรือเพิ่มการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเพื่อกำจัดกรด  แม้ช่วยให้เห็นผลการรักษาเร็วขึ้น  แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักกินยาเฉพาะเวลาที่อาการกำเริบ  ไม่ยอมกินยาตามแพทย์สั่ง  ลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง  จึงทำให้โรคนี้หายช้า
การนอน, แก้กรดไหลย้อน, กรดไหลย้อน, ป้องกันกรดไหลย้อน, อาการกรดไหลย้อน
หลีกเลี่ยงการนอนหลังจากกินอาหารเสร็จทันที ป้องกันกรดไหลย้อนกำเริบ

2. การนอน

คนส่วนใหญ่เมื่อกินอาหารเสร็จแล้วมักเกิดอาการหนังท้องตึง  หนังตาหย่อน  กินแล้วก็นอนเลยต้องโบกมือลาพฤติกรรมเช่นนี้เสียที  เพราะการนอนแผ่หลาหลังกินอิ่มทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น ทางที่ดีนั่งพักให้อาหารย่อยประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงแล้วจึงนอน  จะช่วยให้น้ำย่อยไม่ไหลย้อนขึ้นมาด้านบน

สำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น 6-10 นิ้ว  แต่ไม่ควรหนุนหมอนสูง  เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและกรดไหลย้อนกำเริบ

 

3. การใช้ชีวิต

การใช้ชีวิตด้านอื่นๆก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกรดไหลย้อน  รองศาสตราจารย์ดร.สุจิตรา สรุปพฤติกรรมก่อโรคไว้ดังนี้

  • ไม่ออกกำลังกาย  จากที่เกริ่นไว้ว่า  กรดไหลย้อนสัมพันธ์กับความอ้วน  การไม่ออกกำลังกาย หรือไม่รักษาน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ  จึงมีโอกาสทำให้อาการกำเริบมากขึ้น
  • สูบบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • ความเครียด  อย่างที่หลายคนเคยได้ยินว่า “เครียดลงกระเพาะ”  เนื่องจากเมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นนั่นเอง
  • สวมเสื้อผ้ารัด  ผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นฟิตเปรี๊ยะ  โดยเฉพาะการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณรอบเอวจะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร  ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นมาได้
ความเครียด, กรดไหลย้อน, แก้กรดไหลย้อน, ป้องกันกรดไหลย้อน, สาเหตุโรคกรดไหลย้อน
ความเครียด เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

คำแนะนำเพิ่มเติม

หากวันไหนมีอาการเรอเหม็นเปรี้ยว แต่ยังไม่มีอาการแสบร้อนกลางอก อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต แนะนำข้อมูลเรื่องชาสมุนไพรแก้โรคกรดไหลย้อนไว้ในหนังสือ กูไม่แน่ สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ ดังนี้

  • ชามะตูม โดยหั่นมะตูมดิบเป็นแว่น นำไปตากแดดหรืออบ จากนั้นคั่วให้หอมแล้วชงเป็นชาดื่มแก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • ชาขิง ใช้ขิงแก่ต้มน้ำจนเดือด ดื่มแก้ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว และลดกรดในกระเพาะอาหาร

การพิชิตโรคกรดไหลย้อนนั้นไม่ยาก  เพียงแค่หลีกเลี่ยงไลฟ์สไตล์ก่อโรค  รวมถึงดูแลเรื่อง การกินและออกกำลังกายให้เหมาะสม  ก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้แล้วละค่ะ

 


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.