ยาระบาย สมุนไพรไทย
ยาระบาย คือ ยาบรรเทาอาการท้องผูก กระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวและเคลื่อนไหว และลดการดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย เพื่อทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง ถ่ายคล่องไม่มีอาการท้องผูก และปวดเบ่งถ่ายไม่ออก
ปัจจุบันกระแสการกินสมุนไพรเป็นยาระบายในสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนกันอยู่มากเกี่ยวกับยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย
โดยเฉพาะกินสมุนไพรยาระบายเพื่อใช้ลดความอ้วน แทนที่จะกินเพื่อรักษาอาการท้องผูก อันที่จริงแล้วสมุนไพรยาระบายส่วนมากแทบไม่ได้ส่งผลต่อการลดลงของน้ำหนัก เพียงแต่เป็นการช่วยกระตุ้นให้ผนังลำไส้บีบตัว เพื่อไล่อุจจาระออกมา จึงอาจทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ไม่ได้ช่วยเรื่องการดูดซึมอาหารหรือไขมันหน้าท้องลดลงอย่างที่เข้าใจผิด
ดังนั้น การกินสมุนไพรเป็นยาระบาย ควรจะต้องกินให้เหมาะสม และใช้เฉพาะที่จำเป็น คือกินเมื่อมีอาการท้องผูก ไม่ควรกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนัก อาจทำให้เกิดการทำลายระบบประสาทที่ใช้ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ส่งผลให้ลำไส้เกิดการดื้อยาได้เช่นกัน
ครั้งนี้ผมได้รวบรวมสมุนไพรยาระบายที่ใช้บ่อย หาได้ง่าย มาแนะนำข้อบ่งใช้ วิธีการกิน และข้อควรระวัง โดยการเรียงเป็นลำดับให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่สมุนไพรที่ออกฤทธิ์แบบระบายอ่อนๆ จนถึงใช้เป็น ยาระบาย อย่างแรง ทั้งในกลุ่มที่เป็นใยอาหารเพิ่มกากใยให้กับอุจจาระ และกลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ที่มีสารในกลุ่มแอนทราควิโนน (Anthraquinone) มีดังนี้
-
แมงลัก
ใช้เมล็ด ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นสำคัญ คือ มีเปลือกด้านนอกของเมล็ดสามารถพองตัว กลายเป็นเมือกนุ่มๆ สีใส ช่วยในการระบาย เพิ่มกากใยและช่วยหล่อลื่นทำให้อุจจาระนุ่ม อ่อนตัวกว่าปกติ ทำให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น
วิธีกิน
แช่เมล็ดแมงลักในน้ำให้พองตัวเต็มที่ก่อนกิน หากเมล็ดแมงลักพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้มีการดูดน้ำในลำไส้ เกิดอาการขาดน้ำ และลำไส้อุดตันได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำรับคนที่มีอาการท้องผูกที่ขอแนะนำเลย เพราะถือได้ว่ามีผลข้างเคียงน้อย
-
ฝักคูน
ใช้เนื้อในฝักแก่ มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลดำ รสหวานเอียน เหมาะกับการใช้ในเด็ก และหญิงมีครรภ์ที่มีปัญหาท้องผูก เพราะมีฤทธิ์ ยาระบาย แบบอ่อนๆ รสชาติดีจึงเหมาะกับเด็ก แถมไม่มีอาการมวนท้องหรือไซร้ท้องเหมือนสมุนไพรตัวอื่น
วิธีกิน
ต้มเนื้อใน 5 กรัม กับน้ำ 250 มิลลิลิตร เติมเกลือ หรือน้ำตาลเล็กน้อย แล้วดื่มก่อนนอน
-
ส้มแขก
ใช้ผลหั่นบางๆ แล้วตากแห้ง จนเป็นสีน้ำตาล จนเป็นดำคล้ำ รสเปรี้ยว เป็นยาระบายอ่อนๆ มีมากในภาคใต้ นิยมนำมาทำอาหารใช้เป็นสารแทนความเปรี้ยว เช่น ต้มส้มปลา แกงขนมจีนน้ำยา แกงส้ม
วิธีกิน
ก่อนประกอบอาหารให้นำส้มแขกแห้ง มาแช่น้ำให้พองนุ่มก่อน หรือ ใช้ชงในน้ำร้อน ดื่มก่อนนอน หรือก่อนอาหาร
-
มะขามแขก
ใช้ได้ทั้งใบและฝัก เหมาะสำหรับคนที่ธาตุอ่อน มีกำลังน้อย เช่น เด็ก คนไข้โรคริดสีดวงทวาร เพราะมีสารเสนโนไซด์ (Sennoside) ออกฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ เป็นยาระบายท้อง ขับลมในลำไส้
วิธีกิน
ใช้ใบหรือฝัก ประมาณ 3- 5 กรัม ชงหรือต้ม ดื่มก่อนนอน หรือในรูปแบบแคปซูลใบมะขามแขกวันละ 2-4 แคปซูลๆละ 500 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตามเลือกกินฝักดีกว่าใบ เพราะส่งผลให้มีอาการมวนท้องน้อยกว่า หรือสามารถให้กินคู่กับยาขับลม เช่น ลูกกระวาน อบเชย กานพลู เพื่อลดอาการไซ้ท้องได้
อ่านต่อ>> สมุนไพรยาระบายอันดับ 5-9
บทความที่เกี่ยวข้อง
4 สุดยอดวิธีแก้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ให้ระบายง่ายถ่ายสะดวก
วิธีกินไฟเบอร์ แก้ปัญหาท้องผูก ให้เห็นผล