รักษาโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการใหม่
มารู้จักวิธี รักษาโรคมะเร็ง แบบใหม่ๆ กันเถอะ …. เนื่องจากยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว ทำให้ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติที่กำลังแบ่งตัว เช่น เซลล์รากผม หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร กับเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด
นายแพทย์ธีรภัทร อึ้งตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายว่า การพัฒนายาเคมีบำบัดในปัจจุบันนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการรักษามากขึ้น รวมถึงให้ผลของการรักษาที่จำกัดเฉพาะเซลล์มะเร็งโดยมีผลต่อเซลล์ปกติอื่นๆ น้อยที่สุดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
- การรักษาแบบมุ่งเป้า
คุณหมอธีรภัทร อธิบายว่า การรักษาแบบมุ่งเป้า (Target Therapy)เป็นการรักษาโรคมะเร็งที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีตัวรับหรือเป้าหมาย (Target) ที่ตอบสนองต่อยา โดยก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจผู้ป่วยก่อนว่ามียีนส์หรือตัวรับที่สามารถใช้รักษาด้วยได้หรือไม่
- ภูมิคุ้มกันบำบัด
คุณหมอธีรภัทร อธิบายว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immuno Therapy) เนื่องจากโรคมะเร็งทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถตอบรับกับรักษาด้วยยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ยาเพิ่มภูมิคุ้มกันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานปกติ สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้
ซึ่งมีการใช้รักษากันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-5ปี เพื่อดำเนินการขอรับรองจากองค์การอาหารและยาของประเทศ
- ฮอร์โมนบำบัด
คุณหมอธีรภัทร อธิบายว่า ฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy ) คือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการให้ยาฮอร์โมนเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่ส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
4.วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง
คุณหมอธีรภัทร อธิบายว่า วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง (Cancer Vaccine)นั้นมีความเเตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งวัคซีนรักษาโรคมะเร็งนี้ถูกผลิตขึ้นจากเซลล์มะเร็ง หรือชิ้นส่วนของเซลล์มะเร็ง หรือแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง และมีแอนติบอดี้ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ปัจจุบันวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา คือวัคซีนรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
5.การรักษาแบบใช้ยาเฉพาะบุคคล
คุณหมอธีรภัทร อธิบายว่า หลังจากโลกคิดค้นวิธีการถอดจีโนมระดับดีเอนเอของคนได้สำเร็จเฉพาะราย ซึ่งนำไปสู่การรักษาแบบใช้ยาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine ) ที่เหมาะสมกับยีนส์ของตนเอง ทำให้การรักษามีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา และการแพ้ยาได้
อย่างไรก็ตามถึงเเม้วิวัฒนาการรักษาโรคมะเร็งจะก้าวไกลเพียงใด ก็ยังมีความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาอยู่บ้าง เเต่คุณหมอธีรภัทรได้ให้คำแนะนำว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนจำเป็นต้องรักษาด้วยการรักษามาตรฐานทั้ง 3 รูปแบบ คือ เคมีบำบัด รังสี และการผ่าตัด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรักษาแบบผสมผสานขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรค และชนิดของโรคมะเร็ง
ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียงของการรักษา เพราะว่าในปัจจุบันวิธีรักษาโดยยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการผ่าตัด นั้นมีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม เช่น ผลข้างเคียงของการให้เคมีบำบัดลดลง การทำลายเซลล์ปกติน้อยลง การฉายรังสีที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายการผ่าตัดที่ไม่ต้องตัดเต้านม หรือคว้านต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ฯลฯ
หนทางในการป้องกันมะเร็งยุคนี้คือ กิน นอน พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำงานเป็นตัวช่วยที่ทำงานได้ผลจริง
ข้อมูลเรื่อง “5 วิธีใหม่รักษาโรคมะเร็ง” จากนิตยสารชีวจิต