ครูผู้ส่งต่อ คำสอนของพ่อ แก่เด็กผู้พิการทางการได้ยิน
คำสอนของพ่อ
ชีวิตในวัยเด็กของ ครูญาดา ชินะโชติ ไม่เหมือนเด็กทั่วไป เพราะเมื่ออายุ 11 ปี เธอป่วยหนักและมีอาการแพ้ยา ส่งผลให้เกิดความพิการทางการได้ยินตามมา จึงไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนปกติดังเดิมได้
เธอจึงต้องย้ายมาเรียนที่โรงเรียน “เศรษฐเสถียร” ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน โดยไม่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาเลย
กำลังใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9
เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและพากเพียรซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนผู้พิการทางการได้ยิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานโอกาสส่งตัวเธอ และอาจารย์โรงเรียนเศรษฐเสถียร ไปศึกษาดูงานด้านการเรียนการสอนเด็กผู้พิการทางการได้ยินที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี
เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยพร้อมกับความรู้ด้านการดูแลผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้ครูญาดารู้ชัดว่า อาชีพในฝันของเธอนั้นคือการเป็นครู เธอจึงมุ่งมั่นศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี
ในอดีตการศึกษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยินนั้นมีความยากลำบากกว่าสมัยนี้มาก แต่ครูญาดาก็ฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ เพราะได้รับกำลังใจอันยิ่งใหญ่จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช
“ระหว่างเรียนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯรายงานผลการศึกษา พระองค์ตรัสถามว่า เรียนเป็นอย่างไร ยากไหม ก็ตอบพระองค์ว่าทำไม่ค่อยได้ พระองค์ตรัสว่า ไม่เป็นไรเรียนใหม่ ทรงให้กำลังใจตลอด เพราะว่าสมัยก่อนไม่ค่อยมีใครให้ความช่วยเหลือผู้พิการ เวลาทำรายงานแต่ละครั้งเป็นเรื่องยากมาก ทำผิดก็ต้องทิ้งแล้วทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่างจากเดี๋ยวนี้ที่มีคนคอยช่วยเหลือ มีความรู้ความเข้าใจผู้พิการแถมมีเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนที่ดีกว่าเดิมมาก
“บางครั้งรู้สึกเหนื่อยและท้อใจมากแต่เมื่อได้เขียนจดหมายหรือได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ก็ทำให้เรามีกำลังใจ มีความอดทน และคิดเสมอว่า ต้องทำให้ได้”
เพราะพระเมตตาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่ครูญาดา ทำให้เธอมีกำลังใจและอดทน กระทั่งสามารถเรียนจบปริญญาตรีถึง 2 สาขา จาก 2 มหาวิทยาลัย คือ สาขาเอกปฐมวัย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสาขาเอกประถมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ครูญาดาเล่าถึงความภูมิใจในการเป็นครูตัวเล็ก ๆ ว่า
“เราเรียนจบก็เพราะพระองค์ท่านทรงสนับสนุน แม้แต่เรื่องที่เราพูดได้ก็มาจากความต้องการที่จะพูดกับพระองค์ได้ เราจึงอดทนฝึกพูดมาตลอดชีวิต แต่ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือ การได้รับพระราชทานเสื้อครุยเป็นรางวัลเมื่อจบการศึกษา”
ปัจจุบันชุดครุยพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องเรียนเป็นอย่างดี
อย่าหนีงาน…คือคำพ่อสอน
ครูญาดาถ่ายทอดเรื่องราวที่บันทึกอยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า
“ตอนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ไปทรงงานในพื้นที่อื่นมีเพื่อนชวนไปส่งเสด็จที่สนามบินดอนเมือง แต่ตอนนั้นไม่ได้ไปเพราะทำงาน เพื่อนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เลยกราบบังคมทูลรายงานว่า ครูญาดาไม่ยอมมาส่งเสด็จ แต่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า ‘ดีแล้วที่ไม่มา เพราะจะได้ไม่ต้องเสียงาน’ ท่านไม่โปรดให้ใครหนีงานเพื่อมารับหรือส่งเสด็จ แต่ถ้าเลิกงานแล้วจะไปรับเสด็จก็ได้”
จากคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถึงลูกศิษย์
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทำให้ครูญาดาตั้งปณิธานไว้ว่า จะนำคำสอนของพระองค์มาถ่ายทอดให้กับนักเรียนผู้พิการทางการได้ยินตลอดชีวิต
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะสอนเด็ก ๆ เสมอว่า ทุกคนต้องมีครู เราโชคดีที่มีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นครูของแผ่นดิน พระองค์ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเราทุกอย่าง โดยเฉพาะหลักการทรงงาน เรื่องความเพียร การตั้งใจศึกษาหาความรู้ การมุ่งมั่นทำความดี ซึ่งเราสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อให้เข้ากับคนปกติได้”
นอกจากนี้ครูญาดายังเล่าถึงความประทับใจเมื่อครั้งพานักเรียนผู้พิการทางการได้ยินไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9
“ครั้งหนึ่งเคยพาเด็ก ๆ ไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวง เพราะอยากให้เขาได้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้นได้ทำของไปถวาย ในหลวงตรัสถามว่า เด็ก ๆ ทำเองหรือเปล่า จึงได้ตอบไปว่าทุกคนช่วยกันทำ พอกลับมาที่โรงเรียน ได้มาเล่าให้เด็กคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ไปฟังว่า ในหลวงตรัสถามว่าใครเป็นคนทำ ครูตอบว่า ทุกคนช่วยกันทำ ทำให้เด็ก ๆ มีกำลังใจมากขึ้น รู้สึกภูมิใจในตัวเอง และเมื่อโตขึ้น พวกเขาจะได้บอกต่อให้รุ่นน้องฟัง”
ปัจจุบันครูญาดาเกษียณอายุราชการแล้ว แต่เธอไม่ได้ย้ายไปไหน ยังคงอุทิศตนสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรเช่นเดิม
“แม้ตอนนี้ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว แค่ได้นั่งมองพระบรมฉายาลักษณ์ก็ช่วยให้เรามีกำลังใจในการทำงาน เพื่อถ่ายทอดคำสอนของพระองค์ท่านแก่ลูกศิษย์ตลอดมา”
ขอให้คนไทยทุกคนเชื่อมั่นเถิดว่าหากเราทำความดีตามคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว ชีวิตจะพบแต่ความสุข ความสำเร็จ ดังเช่นที่ครูญาดาเป็นอยู่ในวันนี้
จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 449 (16 มิถุนายน 2560)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ : พระมหากรุณาธิคุณด้านสาธารณสุข
จากพระราชดำรัสสู่แรงศรัทธา ครูเรียม สิงห์ทร แม่พระบน ดอยอ่างขาง